“อนุทิน-สาธิต” คิกออฟ “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย”คาดสูงวัยพุ่งปีละล้าน!

  • มอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน
  • ดูแลสุขภาพทั้งกายใจ มุ่งเสริม “สุขภาพ” เพิ่ม “ความสุข”
  • ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

วันที่ 28 มกราคม 2566 ที่โรงพยาบาล (รพ.) มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. และคณะผู้บริหาร เปิดกิจกรรม “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” มอบของขวัญปีใหม่ 2566 แก่ผู้สูงอายุ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาล (รพ.) ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ร่วมถ่ายทอดสดพร้อมกันทั่วประเทศ โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ได้เป็นประธานขับเคลื่อนกิจกรรมที่ จ.ระยอง

นายอนุทิน กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และจะมีคนไทยอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ส่งผลให้ภายในปี พ.ศ.2576 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุถึง ร้อยละ 28 ของประชากร รัฐบาลจึงได้ปรับแผนงานรองรับ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ สธ.ในฐานะองค์กรหลักด้านสุขภาพของประเทศ ได้ประกาศให้ปี 2566 เป็น “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” มีนโยบายให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึงทั้งร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย 1.การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน

2.ให้รพ. ทุกระดับของ สธ. มีคลินิกผู้สูงอายุ และ 3.สนับสนุนอุปกรณ์จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ได้แก่ แว่นสายตา 500,000 อัน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้น ฟันเทียม 50,000 ชุด และรากฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการใส่ฟันเทียม 5,000 ราก”เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มความสุข ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวมีพลังในการดำเนินชีวิต เกิดความเข้มแข็งทางสุขภาพ ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่เป้าหมาย โดยประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค บูรณาการความร่วมมือกันให้เกิดความครอบคลุม อาทิ 1.กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต ร่วมพัฒนาแบบคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ โดยใช้แบบคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ด้วยแอพพลิเคชั่นสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application) เพื่อค้นหาความเจ็บป่วย

2.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานปลัดสธ. โดย อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต. คัดกรองความถดถอย 9 ด้านของผู้สูงอายุ ด้วยแอพพ์ SMART อสม. เพื่อส่งต่อผู้ที่พบความผิดปกติ ผ่านกลไก 3 หมอ 3.กรมการแพทย์ สำนักงานปลัดสธ. และ รพ. ทุกแห่ง พัฒนาคลินิกผู้สูงอายุ รองรับการส่งต่อผู้สูงอายุที่พบความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และ 4.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ