“อนุทิน” ดันมาตรการ “Quarantine” คุมโควิด-19 เป็น “กฎหมาย” เตรียมชงศบค.ลดเวลากักตัว

  • ผู้กักกันตัวจะได้รับความสะดวกสบายขึ้น
  • ลดวันกักตัวเหลือ 10 วันลดค่าใช้จ่ายรัฐได้เยอะ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย อยู่ในจุดที่ควบคุมได้ และมีความพร้อมจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะได้สำรองยา เวชภัณฑ์ มีประสบการณ์และมีแผนการรองรับ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด 19 อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก หรือน้อยกว่า 2%

ทั้งนี้จากนี้ ต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว และที่ประชุมเสนอให้ออกนโยบายเรื่องการกักโรคในประเทศ หรือ National Quarantine Policy ให้มาตรการกักกันโรค ยกระดับเป็นกฎหมาย จากที่ผ่านมาออกเป็นคำสั่งให้สถานกักกันโรคปฏิบัติตาม ครั้งนี้จะต้องพัฒนาเป็นกฎหมาย ข้อบังคับ ที่ต้องทำตาม ห้ามยกเว้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน และผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักกันตัวจะได้รับความสะดวกสบายขึ้น สำหรับเรื่องการตรวจเชื้อ แปลผล ยังยึดวิธีการเดิมที่มีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ จะมีการพัฒนาวิธีการต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในแนวคิดเรื่องลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ทีมนักวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลตรงกันว่า การลดเวลากักตัวออกไป 4 วัน ไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่จะลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้มหาศาล แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด กรมควบคุมโรค ต้องไปคิดมาว่า เวลา 4 วันที่ ไม่ต้องกักตัว จะมีมาตรการอะไรเข้ามาทดแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่

2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้ง ได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ ทั้งด้านการจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ, มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด, การคัดกรองการเจ็บป่วย หรือสงสัยติดเชื้อโควิด 19, การจัดการสิ่งแวดล้อม, การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต, การรวบรวม จัดเก็บข้อมูล, ระบบรายงานเหตุการณ์, การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน, การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นด้วยกับหลักการ เรื่องการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะให้เน้นเรื่องความปลอดภัย การติดตามตัวได้ มีอาการป่วยหรือไม่ เข้มข้นการปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป