หอการค้าไทยเสนอออกกม.อากาศสะอาด

  • หลังพบมลพิษทำเศรษฐกิจเหนือเสียหายกว่าแสนล้าน
  • เตรียมล่ารายชื่อประชาชนยื่อ”ประธาน”สภาเห็นชอบ
  • ส่วน”สมคิด”ย้ำแทรกแซงค่าบาทมากไม่ได้หวั่นมะกันตอบโต้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ เปิดเผยว่า ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 วันที่ 29 พ.ย.-1ธ.ค.62 ที่จ.ลำปาง ที่ประชุมเห็นพ้องกันที่จะผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้ไทยมีอากาศที่สะอาด เพราะหากยังมีฝุ่นจิ๋ว หรือมลภาวะทางอากาศอยู่ จะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจได้

ซึ่งขณะนี้ หอการค้าไทยได้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว พร้อมกันนั้น จะเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่มาดูแลปัญหาทางอากาศโดยเฉพาะ เพื่อให้พิจารณากำหนดมาตรการดูแลต่างๆ ได้ทันท่วงที คาดว่า ภายในต้นปีหน้า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายจะแล้วเสร็จ

ด้านนายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า หอการค้า 5 ภูมิภาค จะยื่นเสนอ.พร.บ.อากาศสะอาด ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่มีผลสำรวจทางวิชาการระบุว่า ปัญหาฝุ่นพิษ กระทบต่อเศรษฐกิจใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ปีละไม่ต่ำกว่า 163,313 ล้านบาท “วันที่ 2 ธ.ค.นี้จะนำรายชื่อผู้บริหารหอการค้าไทยและประธานหอการค้าในภูมิภาค 20 รายชื่อ ไปเสนอในการเสนอพ.ร.บ.อากาศก่อน จากนั้นจะล่ารายชื่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อเพื่อผลักดันให้สภาฯดำเนินการต่อไป”

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด มีรายละเอียดคร่าวๆ เช่น มีองค์กรดูแลและควบคุมมลพิษทางอากาศทั้งของภาคอุตสาหกรรม, ภาคเกษตรกรรม และการขนส่ง พร้อมทั้งให้แต่ละจังหวัดแต่งตั้งองค์กรดูแลด้วย เพื่อความเข้มงวดในการควบคุม และเจรจากับต่างประเทศกรณีที่เผาป่า หรือไฟไหม้จนมีหมอกควันเข้ามาในไทย รวมถึงมีบทลงโทษด้วย 

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “ร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต” ในงานเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย เพราะยังขยายตัวได้ 2.4% ในไตรมาส 3/62 แต่เติบโตแบบชะลอตัว แต่การเติบโตระดับนี้ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน ถือว่าไทยสู้มาตลอด และเป็นแรงส่งที่ดีในการรักษาเสถียรภาพให้ยังขยายตัวอยู่ได้

“ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่า แบงก์ชาติ ดูแลให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แทรกแซงมากเกินไปไม่ได้ เพราะสหรัฐฯจับตาดูไทยเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน ถ้าไม่ระมัดระวัง สหรัฐฯอาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย ผลที่ตามมาจะมากกว่าผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าแน่นอน”