สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า

“กรมควบคุมโรค”​ เตือนสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของของระบบหัวใจและหลอดเลือด

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน 
  • มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ย้ำสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของของระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินในปริมาณสูง รวมทั้งยังมีสารอันตรายอื่นๆ เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง สารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารเติมแต่งรสและกลิ่น เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่เผยแพร่จำนวนมากยืนยันว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ความสมบูรณ์ของหลอดเลือดลดลง หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน และอาจรวมไปถึงสภาวะหัวใจทำงานหนักมากขึ้น จากภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากถึง 2 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มากถึง 2.66 เท่า และในกลุ่มผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับสูบบุหรี่มวนทุกวัน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สูงถึง 4.62 เท่า

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร

“กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจถูกชักจูงจนหลงเชื่อและริลองให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ มีสารพิษ เสพติดอันตราย”