สำนักงานสลากฯ ฮึดอีกรอบ แก้หวยแพง ลุ้นบอร์ดเคาะแนวทาง 23 ธ.ค.นี้

  • ชงแนวทางขายหวยออนไลน์ควบคู่หวยใบ
  • สกัดการรับซื้อช่วงไปขายต่ออีกทอด
  • ไทยเป็น1ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่ล้าหลัง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการ(บอร์ด) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ดสลากฯ เพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาท แบบครบวงจรอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาหวยราคาแพงไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558

“มาวันนี้ หวยก็ราคาแพงขึ้นอีก ซึ่งสำนักงานสลากฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และต้องการแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด ยอมรับว่าการจำหน่ายสลากเกินราคา 80 บาทมีความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ”

นายธนวรรธน์  กล่าวต่อว่า ในช่วง1ปีที่ผ่านมา มีผู้ขายสลากออนไลน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ไม่มีสลากเป็นของตัวเอง ไปกว้านซื้อจากผู้ได้รับสิทธิ์หรือโควตา แล้วนำมาขายต่อผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยกลุ่มนี้ถือครองสัดส่วน 5-10% ของจำนวนล็อตเตอรี่ 100 ล้านใบ

ทั้งนี้สาเหตุจากผลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ทำให้มีผู้ค้าล็อตเตอรี่ในตลาดเพิ่มขึ้นจำนวนมากจาก 200,000 ราย เป็น 400,000 ราย เนื่องจากมีคนตกงาน ได้หันมาขาย ล็อตเตอรี่ ด้วยการไปซื้อล็อตเตอรี่จากคนได้รับโควตามาขายต่อ  ทำให้ราคาสูงขึ้น เพราะเป็นการรับซื้อช่วง ขณะที่จำนวนล็อตเตอรี่มี 100 ล้านใบ ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของคนซื้อ แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนขาย จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาขายล็อตเตอรี่แพง ทำให้ต้นทุนการรับซื้อช่วง สูงถึง 92-95 บาทต่อใบ ทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 110-120 บาทต่อใด  ขณะที่ราคาต้นทุนที่สลากขายให้ผู้ได้รับสิทธิ์อยู่ที่ 70.40 บาทต่อใบ  เมื่อนำไปขายราคา 80 บาทต่อใบ ผู้ขายจะได้กำไรใบละเกือบ 10 บาท 

“ผลการประชุมบอร์ดในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดออนไลน์ ที่เรียกเราว่าตลาดดอทคอมแน่นอน และจะทำให้ตลาดนี้ต้องขายในราคา 80 บาท”

นายธนวรรธน์  กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น สำนักงานสลากฯ จะแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะดำเนินการ 2 ระบบ คือ ระบบใบแบบเดิมและระบบดิจิทัล โดยระบบใบนั้น ยังคงจำหน่ายเหมือนเดิม ส่วนระบบดิจิทัล สำนักงานสลากฯ จะเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของตนเอง ซึ่งสำนักงานสลากฯจะพิจารณาสัดส่วนการจำหน่ายแบบใบและแบบดิจิทัล ให้มีความเหมาะสม เพราะต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และขอยืนยันว่าผู้ค้าในระบบเดิมจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 ส่วนระยะยาว จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่  มี 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ล็อตเตอรี่ใบแบบเดิม แต่มาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 2.ล็อตโต้ 3.สลากรูปภาพ 4.สลากเลข 2 ตัว 3 ตัว ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายไม่น้อยกว่า 6 เดือน หลังจากนั้นต้องเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติถึงจะดำเนินการได้ 

นายธวรรธน์  กล่าวว่า สำหรับแนวทางการออกล็อตเตอรี่ระบบดิจิทัลนั้น ประเทศไทย เป็น1ใน 10 ประเทศทั่วโลก ที่มีขายสลากแบบใบ ถือว่าล้าหลังกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน  เพราะมีขายสลากแบบดิจิทัลมาเป็นเวลา 30 ปี รวมถึงลาว และเวียดนาม ก็ได้เร่ิมขายสลากแบบดิจิทัลแล้ว ขณะที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สเปน ขายทั้งระบบแบบใบ และดิจิทัล ควบคู่กัน ซึ่งสัดส่วนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละประเทศ 

“การแก้ไขปัญหาหวยแพง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะเป็นการปฎิรูปครั้งใหญ่ของสำนักงานสลากฯ และกลไกทางธุรกิจ จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายปรับตัวได้ อย่างไรก็ดีแม้จะเพิ่มแนวทางการขายเป็นแบบดิจิทัล ก็จะไม่เพิ่มจำนวนสลาก  และยืนยันว่าจะไม่ปรับราคาขายปลีก โดยยังคงขายในราคา 80 บาทต่อใบ ขณะที่โครงสร้่างการเงินยังคงเดิม แบ่งเป็นเงินรางวัล 60% นำส่งรายได้รัฐ 23% เป็นส่วนลดให้ผู้ค้า 12% และนำส่งเข้ากองทุนต่างๆ อีก 5%”

นายธนวรรธน์  กล่าวต่อว่า แนวทางการขายสลากออนไลน์ในระยะสั้น ที่จะขายสลากออนไลน์ควบคู่กับสลากใบนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ไม่เบ็ดเสร็จในเรื่องสลากเกินราคา โดยเฉพาะเลขดัง เพราะยังซื้อสลากไปขายเกินราคาได้เหมือนเดิม แต่ถ้าสำนักงานสลากออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 100% เลขสวยเลขดังอาจจะซื้อไม่ได้อั้น แต่ทั้งนี้แนวทางทั้งหมดจะต้องรอคณะกรรมการสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลพิจารณาในวันที่ 23 ธ.ค.2564