สาธารณสุข เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ “ฉุกเฉิน-โรคอุบัติใหม่”

ประเทศไทยพร้อมเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่สำหรับการตอบโต้และการสื่อสารความเสี่ยงในอาเซียน

  • ประชุมไตรภาคีเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน
  • ด้านการพัฒนาเพื่อหารือการจัดทําร่างข้อตกลงการ
  • จัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการประชุมไตรภาคีเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนด้านการพัฒนาเพื่อหารือการจัดทําร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (Follow-up Trilateral ASEAN SOMHD for the Discussion of the Establishment Agreement (EA) for the ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases (ACPHEED) จัดขึ้นระหว่างเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย โดยที่ประชุมได้บรรลุการจัดทำร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้การประชุมหารือไตรภาคีการจัดทำร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ที่ประชุมได้บรรลุสารัตถะที่สำคัญของร่าง EA ตั้งแต่วันแรกของการประชุม จึงเป็นที่น่ายินดี ในการเจรจาครั้งนี้เราได้ให้ความสำคัญกับหลักการ ASEAN Solidarity เราได้แสดงความยืดหยุ่นพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และได้เอกสารร่าง EA ที่กำหนดโครงสร้าง หน้าที่และการบริหารการทำงานของศูนย์ฯ ไว้อย่างครบถ้วน โดยทีมเจรจามั่นใจว่า ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากการตั้งศูนย์ ACPHEED นี้ สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ ส่งเวียนร่าง EA ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบ และนำเสนอต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยการพัฒนา (ASEAN SOMHD) ซึ่งกำหนดจัดในเดือนมีนาคม 2567 ที่ สปป. ลาว ในระหว่างนี้ ไทยพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการตั้งศูนย์ ACPHEED ในไทย 2 ศูนย์ คือ สำนักงานเลขาธิการของศูนย์ ACPHEED และศูนย์ ACPHEED สำหรับการตอบโต้และการสื่อสารความเสี่ยง (ACPHEED for Response and Risk Communication)

สำหรับศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED จัดตั้งตามข้อมติของที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 ในปี พ.ศ. 2566 กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์ ACPHEED และศูนย์ ACPHEED สำหรับการตอบโต้และการสื่อสารความเสี่ยง (ACPHEED for Response and Risk Communication) ในประเทศไทย ศูนย์ ACPHEED สำหรับการป้องกันและเตรียมความพร้อม (ACPHEED for Prevention and Preparedness) ในประเทศเวียดนาม และศูนย์ ACPHEED สำหรับการตรวจจับและประเมินความเสี่ยง (ACPHEED for Detection and Risk Assessment) ในประเทศอินโดนีเซีย มีการบริหารงานภายใต้หลักการ One ACPHEED for ASEAN พร้อมทั้งขอเชิญผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ เริ่มทำงานในศูนย์ ACPHEED ในประเทศไทยได้ทันที และประเทศไทยพร้อมเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่สำหรับการตอบโต้และการสื่อสารความเสี่ยงในอาเซียน