สหรัฐฯสั่งห้ามขายพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

  • ในอุทยานแห่งชาติ และสาธารณะภายในปี 75
  • คาดลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 14 ล้านตันต่อปี
  • กลุ่มต่อต้านใช้พลาสติกเชียร์ช่วยลดขยะได้แน่นอน

กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐ เผยเตรียมทยอยยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอุทยานแห่งชาติ และที่สาธารณะอื่นๆ ภายในปี 2575 เพื่อลดการสร้างมลพิษจากพลาสติก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เด็บ ฮาแลนด์ รมว.มหาดไทยของสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้ลดการจัดซื้อและการจำหน่ายจ่ายแจกผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกและโพลีสไตรีน, ขวดน้ำพลาสติก, หลอดพลาสติก, แก้วพลาสติก, ช้อนส้อมและมีดพลาสติก ตลอดจนถุงพลาสติก ฯลฯ ในพื้นที่สาธารณะกว่า 480 ล้านเอเคอร์ และกำหนดให้หาวัสดุแบบอื่น เช่น วัสดุที่ย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้แทน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่มีอยู่ในมหาสมุทรกว่า 14 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ สหรัฐฯเป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก โดยรายงานจากกลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ลาสต์บีชคลีนอัพ (Last Beach Clean Up) และ บียอนด์พลาสติกส์ (Beyond Plastics) ประเมินว่า อัตราการรีไซเคิลของสหรัฐฯลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5-6% เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากบางประเทศหยุดรับนำเข้าขยะจากสหรัฐฯ จนส่งผลให้ปริมาณขยะในประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านคริสตี เลวิตต์ ผู้อำนวยการรณรงค์ต่อต้านพลาสติกจากโอเชียนา องค์กรอนุรักษ์มหาสมุทร กล่าวว่า “คำสั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะช่วยลดจำนวนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างสิ้นเปลืองในอุทยานแห่งชาติ และที่สาธารณะอื่นๆ ของเราได้นับล้านปอนด์”