สศค. เผยเศรษฐกิจไทย ต.ค.65 รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

  • ชี้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย
  • ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อน 
  • เผยยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 
  • อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

วันนี้ (28 พ.ย.65) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2565 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 16.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -7.9 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนตุลาคม 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -2.4 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 2.6 สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -5.4 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนตุลาคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 18.3 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.1 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนตุลาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.4 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -14.5 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -5.7 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.9 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 12.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.1

มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 21,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันที่ร้อยละ -4.4 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงร้อยละ -2.8 เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมเงินทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยลดลง อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ สินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง และข้าว โดยขยายตัวร้อยละ 26.3 4.8 และ 2.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับสินค้าเครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 90.6 และ 8.5 ตามลำดับ 2 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย ตลาด CLMV และสหราชอาณาจักร ขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 10.6 และ 3.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับกลุ่มตลาดอื่น ๆ ขยายตัวได้ดี อาทิตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 103.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า ในเดือนตุลาคม2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -2.2 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลที่ -596.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนตุลาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.1 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะผลผลิตสุกร และไก่เนื้อ และสินค้าในหมวดไม้ผลเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.1 จากระดับ 91.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าในระยะต่อไปสำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวมจำนวน 1.48 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 7,178.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -11.2 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย ลาว เกาหลีใต้และเวียดนาม ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนตุลาคม 2565 จำนวน 17.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 285.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -18.8

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.98 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.17 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.4 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.47 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมดสำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 201.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ