“สรรพากร”จับตาผู้ค้าออนไลน์ฝาก-โอนถี่!

  • ธนาคารต้องรายงานการทำธุรกรรมภายใน31มี.ค.นี้
  • หากมีบัญชีโอนเงิน-รับฝากเงิน 3 พันครั้งต่อปี
  • โอนเงินถี่ถึง 400 ครั้ง แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ของกระทรวงการคลัง โดยกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นกฎหมายลูกกำหนดวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 โดยกำหนดให้ สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นและ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน ต้องส่งทั้งเงินฝาก เงินโอน ทุกบัญชีรวมกัน ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนเป็นต้นไป

ทั้งนี้ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ คือ  1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป 2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

“หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตาม อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจลงโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายดังกล่าวกรมสรรพากรจะนำไปประกอบการพิจารณาภาษีเงินได้ โดยมีกลุ่มจับตาคือผู้ประกอบการออนไลน์ หรือกลุ่มค้าขายที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก โดยกรมจะใช้ข้อมูลการโอนเงินดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากับข้อมูลอื่น เพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งในปีงบ 2562 ที่ผ่านมากรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากกลุ่มที่อยู่นอกระบบเพิ่มขึ้นกว่า 100, 000 รายเป็นเงินกว่า 1, 000 ล้านบาท