ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ เทคโนโลยี AI จะเป็นกุญแจสำคัญ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มของไทย มุ่งสู่ Food Loss ที่มีประสิทธิภาพ สู่ความยั่งยืน เผย เทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยลด Food Loss กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
- เผยปี 66 อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15.3 พันล้านตัน CO2e หรือราว 26%
- ชี้ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดความกังวล ด้านมาตรฐานความปลอดภัย
- แนะภาครัฐ ควรออกนโยบายส่งเสริมการลงทุน เทคโนโลยี AI ทั้งมาตรการทางภาษี และที่มิใช่ภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้เทคโนโลยี AI จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยยกระดับ การผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โดยประเมินว่า หากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทย มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ทั้งอุตสาหกรรม จะช่วยลด Food Loss กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ คาดการลงทุนเทคโนโลยี AI ในแต่ละประเภท จะทำให้มี ROI อยู่ที่ราว 20-30% โดยมีระยะเวลาคืนทุนภายใน 5 ปี แนะภาครัฐและภาคเอกชน ผสานความร่วมมือ เร่งสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นภาคธุรกิจ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มทั่วโลก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15.3 พันล้านตัน CO2e หรือราว 26% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
โดยหนึ่งในปัญหาที่สำคัญ คือ การสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) รวมกันมากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณอาหาร ที่ผลิตในโลก ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4.5 พันล้านตัน CO2e หรือราว6-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
สิ่งนี้จึงทำให้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ต้องหาแนวทางลดการสูญเสียอาหาร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ขององค์การสหประชาชาติ ในการลดการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารทั่วโลก ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ให้เหลือเพียง 50% ภายในปี 2573
“ปัจจุบันไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากปัญหา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบ ต่อผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบหลัก ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
อีกทั้งไทย ยังเผชิญปัญหาการสูญเสียอาหาร ตั้งแต่หลังกระบวนการเก็บเกี่ยว จนก่อนถึงมือผู้บริโภคราว 17% ของปริมาณอาหารที่ผลิต คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการลงทุน ในเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ อย่างเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับการผลิต ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทย ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น” นายพชรพจน์ กล่าว
เทคโนโลยี AI จะเป็น Key enabler
น.ส.สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากจะช่วยลด Food Loss แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดความกังวล ด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า
รวมถึงแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในภาคการผลิต อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการ มีส่วนร่วมของประเทศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตาม Nationally Determined Contribution (NDC)
“เทคโนโลยี AI จะเป็น Key enabler ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทยสามารถลด Food Loss และยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้เครื่องคัดแยกผักและผลไม้ ที่ขับเคลื่อนด้วยAI การใช้เครื่องตัดแต่งเนื้อสัตว์ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ขั้นสูง และการใช้ระบบการบำรุงรักษา เชิงคาดการณ์ โดยหากประเมินความคุ้มค่า ในการลงทุน พบว่า มี Return on Investment (ROI) อยู่ที่ 25.6% 21.0% และ 28.6% ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาคืนทุนภายใน 5 ปี
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทย มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ทั้งอุตสาหกรรม คาดว่า จะช่วยลด Food Loss ของไทยราว 3 ล้านตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยราว 3.5 ล้านตัน CO2e ต่อปี” น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าว
ตั้งเป้าหมาย ลดการสูญเสียอาหารให้ชัดเจน
ด้าน น.ส.อังคณา สิทธิการ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเงินลงทุนในเทคโนโลยี AI ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงาน ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI ดังนั้น การยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทย ด้วยเทคโนโลยี AI จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ กันทั้งEcosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ
“ผู้ประกอบการ ควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ในการลดการสูญเสียอาหาร และคำนึงถึงความคุ้มค่า ในการลงทุนเทคโนโลยีAI ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้มีความเชี่ยวชาญด้าน AI มากขึ้น ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมองค์ความรู้ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้าน AI รวมทั้งออกนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในเทคโนโลยี AI ทั้งมาตรการทางภาษี และที่มิใช่ภาษี
อาทิเช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมถึงการจัดให้มีสนามทดลอง (Sandbox) ของการทดลองใช้งานเทคโนโลยี AI เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต” น.ส.อังคณา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ ผลักดันการใช้เทคโนโลยี Cloud ในไทย