สบายอยู่แล้ว! “กัลฟ์-บีกริม” ไม่หวั่นพิษภัยแล้ง พร้อมรับมือธุรกิจไม่มีสะดุด

  • แจ้งไม่ได้รับผลกระทบ หลังรัฐขอความร่วมมือลดการใช้น้ำลง
  • ลั่นผ่านวิกฤตภัยแล้งมามากมายหลายครั้งมีแผนไว้รับมืออยู่แล้ว
  • บี.กริม เผยยอดขายไฟฟ้ายังโตตามแผน
  • ย้ำไม่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะไวรัสโคโรนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชนหรือ GULF แจ้งว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ลดการใช้น้ำลง 10% เพื่อบรรเทาความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำแล้ง ขอยืนยันว่าบริษัทมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้ามาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี และผ่านวิกฤติน้ำแล้งมาแล้วหลายครั้ง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2562 ทำให้มีความมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มบริษัท ทั้งนี้ในปี 2558 ซึ่งสถานการณ์น้ำในแม่น้ำและเขื่อนต่างๆ อยู่ในระดับวิกฤติกว่าปัจจุบัน โรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทยังสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้เป็นปกติ

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันนั้น บริษัทร่วมหารือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทำให้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอไปจนถึงฤดูฝน และโรงไฟฟ้าทุกพื้นที่ทยอยสำรองน้ำในบ่อเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าจนมีปริมาณน้ำสำรองเต็มความจุบ่อทุกโครงการ อีกทั้งยังดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสำรองอื่น  ในพื้นที่นอกโรงไฟฟ้าอีกด้วย ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าเอกชนรายย่อย (SPP) ของกลุ่มบริษัทยังสามารถขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 บริษัทยังมีแผนที่จะขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 6-7%

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชนหรือ BGRIM เปิดเผยว่าบริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับทุกนิคมอุตสาหกรรมมาโดยตลอดมั่นใจสามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง รองรับความต้องการที่แข็งแกร่งจากฐานลูกค้าชั้นนำระดับโลก และยังมีลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาทุกไตรมาส ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความแข็งแกร่ง 

บริษัทติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด มีมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริหารงานภายใน มีการใช้และรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยน้ำส่วนใหญ่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบ SPP ใช้ในกระบวนการผลิตนั้น จะเป็นการใช้น้ำหมุนเวียนมาปรับคุณภาพ และได้รับการยืนยันจาก กนอ.ว่ามีการสำรองน้ำในบ่อกักเก็บน้ำในนิคมอุตสาหกรรมมีระดับที่เพียงพอต่อการเดินเครื่องไปจนถึงช่วงฤดูฝน ขอให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะสามารถให้บริการและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านความกังวลถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น รายได้ของบริษัท 70% มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาว 20-25 ปี ซึ่งจะไม่มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนอีก 30% มาจากภาคอุตสาหกรรมจากทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม พบว่ายังมีแนวโน้มปริมาณการใช้ไฟที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง จากฐานลูกค้าชั้นดีระดับโลกที่มาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้ารายใหม่จากภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องรวม 25 เมกะวัตต์ในปี 2562 และมีการลงนามสัญญากับลูกค้ารายใหม่เพิ่มอีกรวม 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเข้ามาครึ่งแรกของปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำอีกกว่า 1,000 รายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่

ปัจจุบันมีโครงการในมือทั้งหมด 57 โครงการ  รวมกำลังผลิตติดตั้ง 3,424 เมกะวัตต์ เปิดผลิตแล้ว 2,896 เมกะวัตต์จาก 46 โครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมบ่อทองขนาด 16 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 39 เมกะวัตต์ในประเทศกัมพูชา ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีนี้