กพท.-สมาคมแอร์ไลน์สไทย แบไต๋กลไกราคาตั๋วบิน ธุรกิจการบินโอดหลังโควิด แบกต้นทุนอ่วมกำไรน้อย

กพท. ผนึกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเสวนา “เผยเบื้องลึกกลไกราคาบินคุ้มค่าหรือเกินจริง” เจอปัญหาร้องเรียนได้ผ่านเว็บ

  • แอร์ไลน์สโอดแบกต้นทุนอ่วมหลังโควิด 
  • แบไต๋วิธีคิดค่าตั๋วถูกแพงต่างกัน ไฮซีซันช่วยรีบจองก่อนล่วงหน้าเร็วๆ

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท.ร่วมกับนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย จัดงานเสวนาหัวข้อ “เผยเบื้องลึกกลไกราคา บินคุ้มค่าหรือเกินจริง” หลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงประสบปัญหาขาดทุน จากนโยบายของหลายประเทศจำกัดการเดินทาง ปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทุกสายการบินจึงได้ออกมาตรการลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด โดยลดแต่ละส่วนทั้งขนาดองค์กร ฝูงบิน เส้นทางบิน ซึ่งส่งผลให้อุปทานหรือการผลิตที่นั่งทางการบินหายไปจำนวนมาก พอสถานการณ์คลี่คลายก็จำเป็นจะต้อง กำหนด “ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบิน” ทั้งในและทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจากปกติประมาณ 17-18% เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการเดินทางเพิ่มมากขึ้น แต่สายการบินไม่สามารถนำเที่ยวบินกลับให้บริการได้เท่าเดิม เพราะข้อจำกัดหลายอย่างทั้งขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน การซ่อมบำรุงเครื่อง การจัดหาบุคลากร และอื่นๆ

ซึ่งราคาตั๋วเครื่องบินนั้นตามกลไกลตลาดกำหนดราคาด้วยหลัก Dynamic Pricing ตั้ง “ราคาแบบยืดหยุ่น” ซึ่งสายการบินทั่วโลกนำมาใช้เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะ ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารแต่ละช่วงเวลา การแข่งขันของสายการบินตามเส้นทางต่าง ๆ แต่ละสายการบินจะนำมาพิจารณาร่วมกับต้นทุนบริการก่อนตั้งราคาตั๋วแต่ละที่นั่ง ซึ่งใน 1 เที่ยวบินจะมีราคาตั๋วแตกต่างกัน ไล่ระดับราคาเป็นขั้นบันได เรียกว่า Fare Class

ด้วยกลไกทางการตลาดดังกล่าวนี้ทำให้สายการบินตั้งราคาตั๋วโดยสารในเที่ยวบินนั้นเป็นหลายระดับราคา ช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สถานการณ์ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจการบินในประเทศเทศแข่งขันกันค่อนข้างสูง และเลือกใช้กลยุทธ์ราคามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ประชาชนจึงรับรู้ถึงตั๋วเครื่องบินก่อนโควิด-19 มีราคาถูกกว่าปัจจุบัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า “หลังโควิดคนต้องการเดินทางในประเทศสูงขึ้นมาก มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย แต่สายการบินโดยรวมยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าปี 2562 จึงยังไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและที่นั่งเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ส่งผลให้ผู้โดยสารต้องซื้อตั๋วที่นั่งใบท้ายๆในราคาสูง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ทาง กพท.  พยายามเร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาฝูงบินเพิ่มเติมรวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดหาฝูงบินมาใช้เพิ่มและทันความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร

รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารและควบคุมไม่ให้ “ค่าโดยสาร” สูงจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่มีความต้องการเดินทางสูง ทางคณะกรรมการการบินพลเรือนจึงมีประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 เป็นเพดานราคาตั๋วขั้นสูงสุดไว้ ผู้โดยสารตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ www.caat.or.th หากผู้โดยสารผู้พบราคาตั๋วเครื่องบินที่เกินเพดานค่าโดยสารสามารถร้องเรียนมาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยทางเว็บไซต์ www.caat.or.th/complaint

ทุกวันนี้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้เก็บข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศ ของสายการบินต่าง ๆ เป็นระยะ เพื่อใช้ประเมินเเละวางแผนการพิจารณาราคาค่าโดยสารอย่างเป็นธรรม เช่น ข้อมูลสถิติราคาตั๋วเครื่องบิน เส้นทางดอนเมือง-ภูเก็ต วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 พบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ 37.9 % ซื้อตั๋วได้ในราคา 1,001-1,500 บาท 32.8 % ซื้อตั๋วในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท และ 0.8 % ซื้อตั๋วในราคาสูง 3,001-3,500 บาท

สำหรับราคาตั๋วเครื่องบินเของผู้โดยสารแต่ละคนที่ซื้อแตกต่างกัน สอดคล้องกับช่วงเวลาสำรองที่นั่งตาม Fare Class จึงแนะนำให้วางเเผนเดินทางล่วงหน้าให้ดี จึงจะมีโอกาสซื้อตั๋วได้ราคาถูกลง โดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ ก็เช่นเดียวกัน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า สายการบินมีต้นทุนส่วนสำคัญที่นำมาใช้กำหนดราคาตั๋วโดยสาร หลังจากต้องแบกรับภาระต้นทุนการดำเนินงานค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ต้นทุนแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การดำเนินงาน เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน Excise Tax ที่ปัจจุบันสายการบินของไทยถูกเรียกเก็บออัตรา 4.726 บาท/ลิตร ส่วนที่ 2 ต้นทุนคงที่เช่น ค่าจ้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าซื้อ/เช่าอากาศยาน และค่าบริหารจัดการข้อมูลการบินและระบบสนับสนุน ส่วนที่ 3 ต้นทุนอื่น ๆ อาทิ การตรวจดูแลอากาศยานประจำวัน การซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลา และค่าธรรมเนียมการใช้บริการในสนามบินและภาคพื้นดินหรือลานจอด

ตอนนี้คนส่วนใหญ่คิดว่าสายการบินเป็นธุรกิจทำกำไรมหาศาล แต่ความจริงแล้วเมื่อดูราคาเฉลี่ยตั๋วเครื่องบิน เปรียบเทียบกับต้นทุนแล้ว ในค่าตั๋วจะมีส่วนต่างกำไรน้อย จึงต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งทางอื่นมากกว่า เช่น ขนส่งสินค้า จัดทำบริการเสริม น้ำหนักกระเป๋า (สำหรับสายการบินแบบราคาประหยัด) และรายได้จากช่องทางอื่น (ancillary) เช่นโฆษณาในนิตยสาร in-flight หรือขายของที่ระลึกบนเครื่องบิน

อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจการบินยังต้องเผชิญข้อจำกัดการเติบโตจากภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้กำลังซื้ออ่อนแอ ใช้จ่ายเงินด้านสันทนาการหรือเดินทางท่องเที่ยวทางเครื่องบินอย่างระมัดระวัง และราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบโลก แถมสายการบินยังมีต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์ความปลอดภัยให้สอดรับกับมาตรฐานธุรกิจการบินโลก และยกระดับด้านสุขอนามัยช่วงหลังวิกฤต โควิด-19

รวมถึงภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามเกณฑ์/พันธกรณี/ ข้อบังคับที่ถูกกำหนดขึ้น เช่น เกณฑ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินโลก  นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้สายการบินอาจต้องปรับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือออกแบบเครื่องยนต์ใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกับ “การกำหนดราคาตั๋วโดยสาร” ทั้งสิ้น และถึงแม้ภาระต้นทุนของธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้น ทุกสายการบินก็ยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ (เพดานค่าโดยสาร) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจึงขอสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารเกี่ยวกับราคาตั๋วสายการบินในไทยเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza ,wwww.facebook.com/penroongyaisamsaen