ศุลกากร เอาจริง! เพิ่มบทลงโทษ ผู้ซื้อ-ครอบครอง “บุหรี่ไฟฟ้า”

บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า

กรมศุลกากร เอาจริง! แก้ไขเพิ่มบทลงโทษ ปราบผู้กระทำความผิด “บุหรี่ไฟฟ้า” หลังระบาดหนักในกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ปรับ 1 เท่าของสินค้าบวกอากร และภาษี รวมทั้งให้ยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน

  • หลังระบาดหนักในกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา
  • ปรับ 1 เท่าของสินค้าบวกอากร
  • ยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน

วันที่ 4 พ.ค.2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของนักเรียนและนักศึกษา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  จึงได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลัง ดำเนินมาตรการ ด้านการปราบปราม โดยเร่งให้มีการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบนำเข้า และผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเด็ดขาด

 โดยให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอก และนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการด้านปราบปราม ผู้กระทำความผิดสัมฤทธิ์ผล ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นกรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการ แก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์ การเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 สำหรับผู้กระทำความผิด ฐานลักลอบหนีศุลกากรตามมาตรา 242 (กรณีจับกุมผู้กระทำความผิด ณ ด่านพรมแดน)

ฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243 ฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามมาตรา 244 และฐานซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 246 กรณีของกลางเป็น “บุหรี่ไฟฟ้า” บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า จากเดิม ที่ให้ผู้กระทำความผิดยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินเพียงอย่างเดียว เป็นให้ผู้กระทำความผิด ต้องชำระค่าปรับหนึ่งเท่าของราคาของรวมค่าอากร

กับอีกหนึ่งเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีอื่น ๆ (ถ้ามี) และให้ยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน เช่นเดียวกับสินค้าอ่อนไหวจำพวกสุรา บุหรี่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

นายพันธ์ทอง กล่าวต่อว่า จากการเพิ่มเติมเกณฑ์และเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า เป็นการปรามผู้กระทำความผิดให้เห็นถึงบทลงโทษที่หนักมากขึ้น และสร้างความเกรงกลัวในการกระทำความผิด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สังคมไทยปลอดภัยจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้า อีกด้วย

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า กรณีที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆ จะมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งประเด็นการสูบ การครอบครอง รวมถึงประเด็นการห้ามนำเข้า การห้ามขาย มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น ที่ประชุม 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปถึงความชัดเจนเกี่ยวกับ กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้

1.กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 9/ 2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาเติม มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า

รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

3.กรณีผู้ครอบครอง หรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรจะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร

โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน และนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร สคบ.จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าทุกราย หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า

โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ) และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ “ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค” หรือ โมบายแอปพลิเคชั่น “OCPB Connect ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่ที่พบการขายบุหรี่ไฟฟ้า

“ บุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นกลยุทธ์ของผู้ผลิต มีเป้าหมายคือ เด็กและเยาวชน มีวาทะกรรมว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย รวมไปถึงอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ ทางกรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือว่ามีอันตรายชัดเจน

ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีแรงดึงดูดทำให้เยาวชน กลุ่มเปราะบางเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ได้ง่ายมาก ซึ่งการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าแพร่เร็วมาก ที่ผ่านมาจึงเสนอมาตรการการห้ามนำเข้า และมีมาตรการให้ความรู้เรื่องนี้ควบคู่กันไป” ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าว

นอกจากนี้ สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ยังระบุห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ โดยมีบารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า(หากมีสารนิโคติดเป็นสวนประกอบ) โดยมีบทลงโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อ้างอิง: กรมศุลกากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: “พวงเพ็ชร” เอาจริง! ปราบบุหรี่ไฟฟ้า สั่ง สคบ. ลงพื้นที่เชิงรุก