สบน.แจง“กรุงไทย”เป็นรัฐวิสาหกิจหากยึดพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่าตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือการตอบข้อหารือของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเกี่ยวกับสถานภาพของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ) ปรากฏตามสื่อสาธารณะ

ทั้งนี้สบน.ขอชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ  ธนาคารกรุงไทยถือว่ามีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากบทนิยามรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 (ข) ของ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ กำหนดว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 (ก) (องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีสถานภาพเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะถือหุ้นจำนวน 55.07% ของทุนทั้งหมด ธนาคารกรุงไทยฯ จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 (ข) ของ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ

“การตอบข้อหารือดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นต่อสถานภาพ ของธนาคารกรุงไทยฯ ตามขอบเขตและบทนิยามของ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ เท่านั้น ส่วนสถานภาพของธนาคารกรุงไทยฯ ตามกฎหมายฉบับอื่นจะเป็นไปตามขอบเขตและบทนิยามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับซึ่งมีการกำหนดขอบเขตและบทนิยามของรัฐวิสาหกิจ ตามวัตถุประสงค์และขอบเขตในการบังคับใช้ที่ต่างกัน”