“สนธิรัตน์” ชวนคิดแก้ “น้ำมันแพง” งดอิงราคาสิงคโปร์ เร่งใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า

  • ลดภาษีนำเข้า-ค่าการตลาด
  • เบรกกระทบราคาสินค้า-ค่าครองชีพ
  • ลดความผันผวนราคาไฟฟ้าตามราคา LNG ที่พุ่งสูงขึ้น

วันที่ 19 มี.ค.65 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ในฐานะแกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นว่า น้ำมันที่บริโภคภายในประเทศมาจากการผลิตและกลั่นในไทยเพียง 18% ที่เหลือต้องน้ำเข้า โดยเสนอให้หยุดการอ้างอิงราคาโรงกลั่นจากสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าต้นทุนอื่นๆ ชั่วคราวมาเป็น การคิดอิงต้นทุนจริง คือ จากราคาน้ำมันดิบที่ซื้อ บวกค่ากลั่น ในระดับที่ต่ำที่สุดในช่วงเวลา 3 เดือน พร้อมกับการลดภาษีนำเข้าให้ต่ำลง ยอมสูญเสียรายได้ชั่วคราวจากส่วนภาษีนี้ และลดค่าการตลาดลงบ้าง ก็น่าจะตรึงราคาและป้องกันการพุ่งของราคาสินค้าหรือค่าครองชีพอื่นๆ ของคนไทยได้

“เรามาคิดว่าใน 18% ที่ประเทศไทยผลิตได้เอง เราสามารถคิดในสัดส่วนดังกล่าวนี้ว่าไม่ต้องอิงราคาตลาดโลก ได้หรือไม่ อย่างน้อยเชื่อว่า จะทำให้ราคาเฉลี่ยควรจะลดลงบ้าง ในช่วงภาวะไม่ปกติ และอาจจะทำให้ภาพในมุมอื่นๆ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับโครงสร้างต้นทุนนำ้มันได้” นายสนธิรัตน์ ระบุ

นายสนธิรัตน์ ยังได้ระบุถึงราคา LNG ที่จะมีการปรับราคาขายในประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ว่า ตลาด LNG เป็นตลาดตึงตัว Demand พอๆกับ Supply โยจะตึงตัวไปอีก 2-3 ปี ทำให้ราคาพร้อมจะผันผวนตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งโครงสร้างกิจการการผลิตไฟฟ้าของประเทศปัจจุบัน ประมาณ 55-60% จะใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าเรามีความเสี่ยงต่อราคาค่าไฟหากเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนเรื่องแก๊สอีกทั้งปริมาณแก๊สในอ่าวไทยเราเหลือน้อยลง และนำขึ้นมาใช้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน

“ที่เหลือคือโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในต่างประเทศ การใช้ถ่านหินที่มีในทั้งประเทศและต่างประเทศ เชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวมวล หรืออื่นๆ ที่ต้องเร่งรัดและบริหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยต้องสนับสนุน Renewable Energy (พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ) ในการผลิตไฟฟ้า เป็นทางออกในการบริหารความเสี่ยงด้านพลังงานที่พึ่งพาแก๊สในปัจจุบันได้”