สนค.เผยเงินเฟ้อเม.ย.65 ขยายตัว 4.65%

.รับผลกระทบราคาพลังงาน-อาหารพุ่งกระฉูด

.ครัวเรือนกระเป๋าฉีกจ่ายค่าi5สาธรณะกว่า 4 พันบาท

.คาดพ.ค.เงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อหลังทยอยขึ้นราคาดีเซล

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.65 ว่า เท่ากับ 105.15 เทียบกับมี.ค.65 เพิ่มขึ้น 0.34% ส่วนเทียบกับเดือนเม.ย.64 เพิ่มขึ้น 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จากที่เคยสูงขึ้นในเดือนก.พ.และเดือนมี.ค.ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี  ส่วนเงินเฟ้อช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 65 เพิ่มขึ้น 4.71% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก จากคำนวณ ดัชนีอยู่ที่ 102.57 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบเดือนมี.ค.65 และเพิ่มขึ้น 2.0% เทียบกับเดือนเม.ย.64 ขณะที่เฉลี่ย 4 เดือน เพิ่ม 1.58%

 “เดือนเม.ย.65 สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นยังคงมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อสูงถึง 64.92% ส่วนกลุ่มอาหาร อยู่ที่ 32.64% ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ อยู่ที่ 2.44% ส่วนเดือนพ.ค.65 คาดว่า เงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมถึงการสูงขึ้นของก๊าซหุงต้ม และราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่สูงขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร”

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ มีความเป็นห่วงว่า หากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ จะทำให้ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและพันธมิตร ที่มีต่อรัสเซีย เพิ่มมากขึ้น และจะมีผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร รวมถึงราคาพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สนค.ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อไทยปี 65 อยู่ในกรอบ 4.0-5.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% แต่อัตราดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบของการขึ้นราคาดีเซล และการสิ้นสุดการยกเลิกเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล โดยจะคาดการณ์ใหม่อีกครั้งในไตรมาส 2  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนเม.ย.65 สนค.สำรวจพบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 17,681 บาท โดย 59.28% เป็นค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอีก 40.72% เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หากจำแนกเป็นรายการสินค้า พบว่า ค่าใช้จ่ายมากสุดถึง 4,233 บาท เป็นค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ตามด้วยค่าเช่าบ้าน วัวดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 3,919 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ 1,667 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ฟู้ดดีลิเวอรี่ 1,572 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน อาหารตามสั่ง 1,211 บาท เป็นต้น