สนค.เผยร้านโชห่วยไทยยังไม่ตาย

.ผลสำรวจทั่วประเทศพบคนไทยนิยมซื้อเป็นอันดับ 2

.ร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 และซุปเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 3

.เหตุใกล้บ้าน มีมาตรการรัฐหนุนแต่แนะเร่งแก้จุดอ่อน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นของร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีกค้าส่งและซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกอำเภอ ทั่วประเทศ 8,428 รายในเดือนต.ค.64 ว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่มากถึง 88.02% เห็นว่า ร้านสะดวกซื้อมีความจำเป็นมากที่สุด ส่วนอีก 87.53% ตอบว่า ร้านโชห่วย โดยจำเป็นในทุกอาชีพ ที่มีรายได้ไม่สูงนัก และอีก 77.65% ตอบซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่

ขณะที่ร้านค้าที่ผู้บริโภคนิยมมากที่สุด ผู้ตอบมากถึง 47.76% ตอบว่า ร้านสะดวกซื้อ แม้ในแต่ละชุมชนมีร้านสะดวกซื้อ 1-2 ร้าน น้อยกว่าร้านโชห่วยที่มี 2-3 ร้าน แต่กลับได้รับความนิยมมากกว่าร้านโชห่วย ที่มีผู้นิยมซื้อเป็นอันดับ 2  ที่ 35.19% และอีก 17.06% ตอบว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยผู้ที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และมีอาชีพเกษตรกรมากที่สุด ส่วนภูมิภาคที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้รับความนิยมน้อยที่สุด

ส่วนสินค้าและบริการ ที่เลือกซื้อจากร้านต่างๆ ผู้ตอบส่วนใหญ่ บอกว่า จะซื้อสินค้าเล็กๆ น้อยๆ จากร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อมากที่สุด โดยซื้อสัปดาห์ละ 2-3 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งไม่เกิน 300 บาท ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ จะเป็นการซื้อสินค้าประจำเดือน และค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 300 บาทขึ้นไป

โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคชอบซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อมากกว่า เพราะร้านโชห่วยยังมีข้อด้อยที่สินค้าไม่หลากหลาย มีจำนวนน้อย ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ชำระด้วยเงินสดเท่านั้น คุณภาพต่ำ ราคาแพง คิดเงินช้า ระบบคิวไม่ดี พูดจาไม่สุภาพ และไม่สามารถเลือกสินค้าด้วยตนเองได้ แต่มีข้อดีตรงที่สะดวกในการเดินทาง ราคาถูก มีสินค้าแบ่งขาย มีสินค้าที่ต้องการ หลากหลาย และคุณภาพตรงกับความต้องการ ความไว้วางใจ/คุ้นเคย/ความสัมพันธ์ที่ดี มีมาตรการรัฐสนับสนุน เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ในชุมชน มีสินเชื่อ  และอื่นๆ เช่น ไม่แออัด

“ปัจจุบัน ผู้บริโภคยังนิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยอยู่ แต่ร้านโชห่วยต้องเร่งแก้ไขจุดบกพร่อง คือ

เพิ่มความหลากหลายของสินค้า การจัดวางสินค้า ความสะอาด คุณภาพสินค้า จัดโปรโมชั่น คุณภาพการบริการ/อัธยาศัย เพิ่มบริการส่งถึงบ้าน ความรวดเร็วในการคิดเงิน และระบบคิว เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อ ซึ่งจะทำให้ร้านโชห่วยอยู่คู่กับคนไทยได้ยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นช่องทางลดค่าครองชีพให้กับคนในชุมชน”

พร้อมกันนั้น กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมเพื่อยกระดับร้านโชห่วย ผ่านโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างสมาร์ทโชห่วย ที่พัฒนาร้านโชห่วยให้ทันสมัย ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยให้องค์ความรู้การบริหารจัดการร้าน แนะนำการใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการร้านและสต็อก รวมถึงปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้มีความสะดวก สะอาด ทันสมัย, โครงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เชื่อมโยงร้านโชห่วยกับชุมชนและเครือข่าย โดยสนับสนุนสินค้าราคาพิเศษจากผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย/ร้านค้าส่ง และเชื่อมโยงสินค้าชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น