สนค.คาดเงินเฟ้อไทยปี 67 โตได้แค่ 0.7%

  • ผลรัฐลดค่าครองชีพ เศรษฐกิจโลกลด หนี้ครัวเรือนสูง
  • ลั่นไทยยังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเหตุเศรษฐกิจยังขยายตัว
  • ส่วนเงินเฟ้อพ.ย.66 ลบ 2 เดือนติดต่ำสุดรอบ 33 เดือน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปี 67 สนค. คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปของไทยขยายตัวระหว่าง ลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% มีค่ากลางอยู่ที่บวก 0.7% ชะลอลงจากปี 66 ที่คาดขยายตัว 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอลงมาจาก มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐที่คาดจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด, เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง ที่กดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม


แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยสูง, เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 66, การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการรัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.อาจปรับคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อปี 67 ใหม่


สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 67 ได้รวมผลกระทบจากนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล ที่คาดจะมีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% ใกล้เคียงกับการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การปรับขึ้นค่าแรง และการสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลแล้ว ส่วนกรณีที่ค่ากระแสไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่เดือนม.ค. อาจปรับขึ้นหน่วยละ 4.68 บาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อาจขึ้นไม่ถึง 4.68 บาท โดยค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อ 3.90%


“การที่เงินเฟ้อไทยติดลบ ยังไม่ถือว่า เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะทางเทคนิค เงินฝืดมีหลายเงื่อนไข คือ เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 1 ไตรมาส ซึ่งเงินเฟ้อไทยต่ำกว่าศูนย์แล้ว แต่ข้ออื่นๆ ยัง ทั้งราคาสินค้าและบริการ ที่คำนวณเงินเฟ้อส่วนใหญ่ต้องลดลง แต่ไทยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนลดลง และกลุ่มพลังงาน ค่าไฟฟ้า ลดลงมาจากมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจต้องลดลง แต่เศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์ คาดการณ์ ปี 66 ขยายตัว 2.5 ส่วนปีหน้า คาดขยายตัว 2.7-3.7% ดังนั้น ทางเทคนิคไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด”
นายพูนพงษ์ กล่าวต่อถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 107.92 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.44% เมื่อเทียบเดือนพ.ย.65 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน เพราะมาตรการรัฐด้านพลังงาน ที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานลดลง รวมถึงค่าไฟฟ้า ขณะที่เงินเฟ้อเดือนพ.ย.66 เมื่อเทียบเดือนต.ค.65 ติดลบ 0.25% และเฉลี่ย 11 เดือน เพิ่มขึ้น 1.41% เทียบช่วงเดียวกันปี 65 สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค.66 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง