สธ.จ่อเพิ่มโทษ ‘คลินิกไม่ได้มาตรฐาน’ พร้อมปรับ 3 เท่า!

  • แถมเอาผิดโฆษณาชวนเชื่อทุกช่องทาง
  • เพิกถอนใบประกอบวิชาชีพหรือไม่
  • ขึ้นอยู่กับสภาวิชาชีพของบุคลากรที่ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ปทุมธานี แพทยสภา ฯลฯ แจงรายละเอียดเอาผิดคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต ผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขจมูกให้ผู้ป่วย ซึ่งมีการดมยาสลบ แต่ ผู้ป่วยเสียชีวิต ขณะที่แพทย์ผู้ให้บริการ แม้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แต่ไม่ได้ขออนุญาตปฏิบัติงานในสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควรมีการเพิ่มโทษ เนื่องจากโทษอาจน้อยเกินไปจึงไม่เกรงกลัวนั้น

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ สบส. อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรการให้มีความทันสมัยมากขึ้นประมาณ 10 กว่ามาตรา ทั้งเรื่องการปรับเพิ่มโทษกรณีการโฆษณาชวนเชื่อตามมาตรา 38 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเปิดคลินิก ทั้งมาตรา 17 และ 18 ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น อย่างโทษปรับจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนโทษจำคุกยังไม่ได้เพิ่ม

“อย่างการโฆษณาก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน 3 เท่าในทุกช่องทาง อย่างปรับจาก 1 แสน เพิ่มเป็น 3 แสน และคิดตามช่องทางที่มีการโฆษณาออกไป เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป หรืออื่นๆ อย่างมี 6 ช่องทาง ผิด 6 ช่องทางก็ต้องปรับเพิ่มคูณเข้าไป โดยขณะนี้ได้ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว เหลือเพียงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ พิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าไม่น่าเกิน 1 ปี” รองอธิบดี สบส. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมา สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนของสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชนที่ทำผิดมากน้อยแค่ไหน ทพ.อาคม กล่าวว่า เฉลี่ยเดือนละ 80 เรื่อง ทั้งเรื่องมาตรฐานการรักษา มาตรฐานการบริการ ทั้งการรักษาทั่วไป ศัลยกรรม รวมไปถึงโรคโควิด19 และร้องเรียนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP)

เมื่อถามว่ากรณีการร้องเรียนที่มีแพทย์เกี่ยวข้องกับการรักษา หรือศัลยกรรมเสริมความงามมีจำนวนเท่าไหร่ ทพ.อาคม กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะมีแพทย์เกี่ยวข้องอยู่แล้ว อย่างเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาโดยแพทย์ก็มีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาประมาณ 5-10 เรื่องต่อเดือน จาก 80 เรื่องที่เรียกร้องเข้ามา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องประเภทการทำความงามตามคอร์สต่างๆ ที่มีการจ่ายเงินไปแล้ว และเมื่อมารับบริการกลับไม่ได้ดั่งที่คาดหวัง จึงเรียกร้องเอาเงินคืน เป็นต้น ซึ่งกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับความงามมีมากเฉลี่ย 60% นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโควิดที่เข้าโครงการยูเซปว่าเข้าข่ายกลุ่มอาการสีเหลือง หรือสีแดง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทบทวนกฎหมาย โดยการปรับโทษเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ไม่เพิ่มโทษจำคุกจะทำให้คนจงใจทำผิดไม่เกรงกลัวหรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า การเพิ่มโทษถือว่า ค่อนข้างมาก เพราะมีการแยกเป็นรายช่องทางในการเผยแพร่โฆษณา หรือกรณีหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของการเปิดคลินิก หรือการประกอบวิชาชีพฯ ในสถานพยาบาลหรือคลินิกก็จะมีการเพิ่มโทษเช่นกัน

เมื่อถามว่า หากแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิกได้รับโทษจำคุกถือว่าจะไม่สามารถมาประกอบวิชาชีพได้อีกใช่หรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า หากทำผิดและมีโทษถึงจำคุกก็จะเป็นเงื่อนไขของวิชาชีพนั้นๆว่า จะเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาวิชาชีพของบุคลากรที่ดำเนินการว่า พิจารณาอย่างไร หากไม่มีใบประกอบวิชาชีพ การจะมาขอขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาตในการประกอบวิชาชีพย่อมไม่ได้