สคร.มั่นใจปี65 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ทะลุ 142,800 ล้านบาท “สลากกินแบ่ง”​ครองแชมป์อันดับ 1

  • ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2565 นำส่ง 66,372 ล้านบาท
  • คิดเป็นร้อยละ 46 ของเป้าหมายทั้งปี
  • สลากกินแบ่ง-ปตท.แชมป์นำส่งรายได้

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน จากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (กิจการฯ) รวมทั้งสิ้นจำนวน 66,372 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 8,521 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 142,800 ล้านบาท โดยเงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก
ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2565 มีดังนี้

สำหรับลำดับที่ รัฐวิสาหกิจ เงินนำส่งรายได้แผ่นดิน ได้แก่ 1. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 23,644 ล้านบาท 2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 17,519 ล้านบาท
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 6,419 ล้านบาท 4. ธนาคารออมสิน 5,313 ล้านบาท 5. การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2,610 ล้านบาท 6. การไฟฟ้านครหลวง 2,587 ล้านบาท 7. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2,374 ล้านบาท 8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1,400ล้านบาท 9. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,345 ล้านบาท
10. การประปาส่วนภูมิภาค 746 ล้านบาท 11. อื่นๆ และกิจการฯ 2,415ล้านบาท รวม 66,372 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง โดย สคร. จัดเก็บ ไม่รวมเงินนำส่งรัฐประเภทอื่น เช่น ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 จะเป็นการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลประกอบการในปี 2564ของรัฐวิสาหกิจ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจอาจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในระลอกที่ผ่านมา ซึ่ง สคร. จะได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การกำกับติดตามการนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน ของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเสถียรภาพทางการคลังได้อย่างยั่งยืน