สคร.จี้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62

  • ชี้ 10 เดือน วิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนแล้ว 146,707 ล้านบาท
  • ขณะที่ “การประปาส่วนภูมิภาค” เบิกจ่ายสะสมมากสุด 136%
  • ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนยังเบิกจ่ายล่าช้ากว่าแผนอีกมาก

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้นตามข้อสั่งการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในลักษณะ Front – Loaded หรือ  เร่งรัดโครงการที่สามารถเลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2562

ทั้งนี้ ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนก.ค.2562 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มีผลการเบิกจ่ายในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2561 – ก.ค. 2562) จำนวน 146,707 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม

นายชาญวิทย์ นาคบุรี

ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง สิ้นสุดเดือนก.ค. 2562 เท่ากับ 146,707 ล้านบาท แบ่งเป็น การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง ที่เบิกจ่ายได้ 77,891 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 10 เดือน (เดือนต.ค. 2561 – ก.ค. 2562) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 11 แห่ง เท่ากับ 68,816 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 7 เดือน (เดือนม.ค.2562 – ก.ค.2562)

ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจที่มีอัตราการเบิกจ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค( กปภ.) จำนวน 5,108 ล้านบาท คิดเป็น 136% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด 2.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที  จำนวน 1,977 ล้านบาท คิดเป็น 129% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด 3.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 8,412 ล้านบาท คิดเป็น 124% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด 4.การประปานครหลวง(กปน.) จำนวน 3,869 ล้านบาท คิดเป็น 116% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด  4.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 24,104 คิดเป็น 118% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด ล้านบาท และอื่นๆ 103,237 ล้านบาท คิดเป็น 71% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้ากว่าแผน เช่น 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) และ2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ4.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)