สคข.แจ้งข่าวดี! ฟูดดีลิเวอรี่ยอมลดค่าจีพี 1 เดือน

  • ยอมเก็บแค่ 25% จากปกติ 30% ดีเดย์ 1-30 มิ.ย.นี้
  • หวังช่วยเหลือร้านอาหารที่ซมพิษโควิด-19 อย่างหนัก
  • ลั่นถ้าโควิดยังระบาดต่อเตรียมบี้ให้ลดค่าจีพีลงอีก

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากร้านอาหารจำนวนมากว่า ผู้ให้บริการดิจิทัลเเพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร (ฟูดดีลิเวอรี่) หลายราย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการ หรือค่าส่วนแบ่งการขาย (จีพี) จากร้านอาหารในอัตราสูง 30-35% ของยอดขาย ส่งผลให้ร้านอาหารเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) จึงได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการฟูดดีลิเวอรี่ ให้ปรับลดค่าจีพีลง เพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการ 5 ราย ได้แก่ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda และ Robinhood ยินดีจะลดค่าจีพีเป็นระยะเวลา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.64

ทั้งนี้ Grab จะปรับลดค่าจีพีลงเหลือ 25% จากเดิม 30% ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.64 โดยร้านอาหารจะต้องลงทะเบียนและกำหนดให้ส่วนลด 100 ออเดอร์แรกต่อร้านค้า, Foodpanda ปรับลดค่าจีพีเหลือ 25% จากเดิม 30% ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.64 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยร้านอาหารไม่ต้องลงทะเบียน, Lineman ปรับลดค่าจีพีเหลือ 25% จากเดิม 30% ตั้งแต่วันที่ 1 -30 มิ.ย.64 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยร้านอาหารต้องลงทะเบียนและกำหนดให้ส่วนลดยอดขาย 10,000 บาทแรกต่อร้านค้า, Gojek ปรับลดค่าจีพีเหลือ 25% จากเดิม 30% ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.-27 มิ.ย.64 โดยร้านอาหารต้องลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 – 30 พ.ค.64 และ  Robinhood ไม่เก็บค่าจีพี และจะช่วยทำโปรโมชันให้กับร้านอาหารด้วย นอกจากนี้ บางรายจะไม่เรียกเก็บค่าจีพี สำหรับร้านอาหารที่ส่งอาหารเอง หรือให้ลูกค้ามารับอาหารที่ร้านเอง

“หากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป สขค. จะขอความร่วมมือธุรกิจฟูดดีลิเวอรี่ ให้ปรับลดค่าจีพีต่อไปอีก และจะมีการกำกับดูแลอัตราค่าจีพี และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายการส่งเสริมการขาย เป็นต้น ที่มีการเรียกเก็บจากร้านอาหารอย่างเป็นธรรมด้วย โดยหากพบว่า ธุรกิจฟูดดีลิเวอรี่ เรียกเก็บค่าจีพี และค่าธรรมเนียมอื่นๆ อย่างไม่เป็นธรรม อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า จะมีโทษปรับทางปกครอง ไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และหากพบเห็น การเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนได้ที่ สขค. โทร. 02-199-5444 หรือเว็บไซต์ www.otcc.or.th “