“ศูนย์วิจัยทองคำ” ชี้ดัชนีเชื่อมั่นราคาทองคำ มิ.ย.ลดลงครั้งแรกในรอบปี แนะจับตาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่

  • ความเชื่อมั่นลดเหตุจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ
  • พร้อมแนะนำลงทุนช่วงนี้ด้วยความระมัดระวัง
  • อาจมีแรงเทขายทำกำไร ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 60.19 จุด ปรับลดลง 8.14 จุด หรือคิดเป็น 11.92% จากเดือน พ.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 68.33 จุด โดยลดลงเป็นเดือนแรกของปี โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯปรับลดลงมานั้น มาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ความคาดหวังต่อการพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 และรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น 

นอกจากนี้ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำช่วงเดือน มิ.ย. 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 314 ตัวอย่าง พบว่า 40.45% ยังไม่ซื้อทองคำในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่ 35.98% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ และ 23.57% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำ ในช่วงเดือน มิ.ย. ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมองดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,668 – 1,774 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 25,100 – 26,600 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทยให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31.22 – 32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าวว่า ในด้านการลงทุนทองคำเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่าราคาทองคำในเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายปี จึงแนะนำให้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเมื่อราคาทองคำสร้างระดับสูงสุดใหม่ มักจะมีแรงเทขายทำกำไรทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ทั้งนี้หากราคาทองคำสามารถเคลื่อนไหวอยู่เหนือบริเวณแนวรับที่ 1,668 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ได้ ราคาทองคำอาจมีโอกาสกลับไปทดสอบบริเวณแนวต้านสำคัญที่ 1,765 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตามปัจจัยราคาทองคำที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า นโยบายการผ่อนคลายล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เร็วกว่ากำหนดของสหรัฐอาจเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดระลอก 2 หรือไม่ ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันจากมาตรการปิดเมืองก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหรัฐกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยจะทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่  

2. สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของ 2 ประเทศ เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากสงครามการค้าซึ่งเป็นปัญหาเดิม รวมถึงกรณีสหรัฐกล่าวพาดพิงถึงประเทศจีนว่าเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาตรการทางเศรษฐกิจที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อจีน ขณะที่จีนออกมาปฏิเสธและพร้อมโต้กลับ ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน