“ศักดิ์สยาม” นำ ทอท.จัดทัพใหม่รอรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน/ปี สั่งบินไทยแก้ 30 วัน บริการขนกระเป๋า-ดอนเมืองเฟส 3 ฉลุยปี’72

  • “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม นำ ทอท.ลุยจับมือ “อิสตันบูล แอร์พอร์ต” ลงนาม SAA
  • รองรับผู้โดยสารอีก 5 ปีหน้า กลับมาเติบโตเข้าไทยแบบก้าวกระโดดปีละ 200 ล้านคน เน้นสะดวก ประทับใจ และจัดทัพโลจิสติกส์ไทยสู่ยั่งยืน
  • พร้อมยื่นคำขาด “การบินไทย” เจ้าของสัมปทานบริการสัมภาระกระเป๋าผู้โดยสารแก้ไขด่วนภายใน 30 วัน
  • พร้อมเปิดหารายใหม่เสริมทัพ เปิดแผน “ขยายดอนเมือง เฟส 3” หลัง ครม.อนุมัติกรอบใช้เงิน 3.6 หมื่นล้านบาทเปิดจ้างสัญญาเดียว 6 กลุ่มงาน ลุยทำให้เสร็จพร้อมเปิดปี’70 และปี’72

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงอภิปรายAOT Sister Airport CEO Forum 2022 โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท./AOT” จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Resilience, Reunion, and Reinventing for Aviation Sustainability-พลิกฟื้นคืน มารวมกัน และรังสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อไปก้าวสู่ความยั่งยืนทางการบิน” โดยมีซีอีโอกับผู้อำนวยการองค์กรการบินแถวหน้าของโลกประชุมร่วมกันทั้ง สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO -International Civil Aviation Organization) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ICA -Airport Council International) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และยังหารือกันถึงหัวข้อ “การปรับตัวของธุรกิจท่าอากาศยานเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจการเติบโตอย่างยั่งยืน -Airport Business Transformation for Resilience and Sustainability”

โดยกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลไทยมีนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนโลจิสติกส์ของประเทศครบทั้ง 4 มิติ คือ ทางบกทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ เข้าสู่เทรนด์ความยั่งยืนของโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบกับทุกประเทศในโลก จึงได้ประกาศหาวิธีการสมัยใหม่เข้ามาจัดการโดยเร็วที่สุด อีกทั้งสนามบินของประเทศไทยปี2566 ผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการใกล้เคียงสถานการณ์ปกติปี 2565 คือปีละเกือบ 142 ล้านคน จึงต้องเดินหน้านโยบายสร้างความประทับใจด้วยการทำให้สนามบินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไทยแข็งแรงเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงการเชื่อมต่อเข้ากับยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พุ่งเป้าไปยังเรื่องการพัฒนาบุคลากร สร้างตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เติบโตอย่างมีคุณภาพ หากทำได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันวางไว้จะทำให้ไทยก้าวข้ามเขตประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะ ทอท.เร่งเดินหน้าแผนพัฒนาธุรกิจสนามบินกับเครือข่ายพันธมิตรครั้งนี้ได้ทำพิธีลงนาม SAA -Sister Airport Agreement กับ “อิสตัน บูล แอร์พอร์ต” ประเทศทูร์เคียร์ (ตุรกี) สนามบินนานาชาติซึ่งกำลังมาแรงจากหลังสถานการณ์โควิด-19 นักเดินทางตลาดตะวันออกกลางและยุโรปแห่ใช้บริการคับคั่งที่สุดในยุโรปสถิติตลอดปี 2565 รวมกว่า 47.6 ล้านคน

การลงนามของ ทอท.กับอิสตันบูล แอร์พอร์ต ครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าตามโครงการ SAA ร่วมกับ 13 องค์กรครอบคลุม 17 สนามบิน 10 ประเทศ ที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินซึ่งได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลกจากโควิด เนื่องจากไทยเองเคยมีรายได้จากสนามบินปีละกว่า 85,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะต้องเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาพลิกฟื้นตลาดร่วมกับเครือข่ายสนามบินนานาประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อเนื่องที่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินด้วย

สถิติการใช้สนามบิน ทอท.ทั้ง 6 แห่ง เริ่มเดือนตุลาคม 2565 มีผู้โดยสารใช้มากที่สุดถึง 3 ล้านคน ส่วน 9 เดือนแรกระหว่างมกราคม-กันยายน 2565 มีผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละกว่า 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 146.62 %

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่ามีนโยบายให้การแก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่อง “ขจัดความล่าช้าสัมภาระกระเป๋าผู้โดยสารในสนามบิน” ได้ตั้ง “ศูนย์บัญชาการ-Command Center” แบ่งดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เร่งด่วน ให้ผู้ได้สัมปทานบริการภาคพื้นขนสัมภาระกระเป๋า GSH Ground handing Service 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ตอนนี้เป็นเอกชนไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว มีส่วนแบ่งตลาดลูกค้าอยู่ 80 % กับ บริษัท บางกอก ไฟลต์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ BFS อีก 20%

ปัญหาที่เจอตอนนี้คือ บมจ.การบินไทยเจ้าของสัมปทานขนสัมภาระกระเป๋าในสนามบินของ ทอท.มีข้อจำกัดเรื่องขาดบุคลากรซึ่งเหลือแค่เพียง 30 % ของทั้งหมดปี 2562 จึงไม่สามารถทำได้ตามข้อตลกงที่จะนำกระเป๋ามายังสายพานให้ผู้โดยสารได้ภายใน 30 นาที เมื่อเครื่องแต่ละเที่ยวลงจอดยังสนามบิน ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาคอขวดในสนามบินเพราะล่าช้ามากสุดครั้งละเกิน 1.30 ชั่วโมง/เที่ยวบิน

ดังนั้นจึงขอให้การบินไทยรีบแก้ไขด่วนเปิดโอกาสให้ทำก่อนภายใน 30 วัน โดยจะทำคู่ขนานโดยเชิญสายการบินต่าง ๆ มาประชุมร่วมกัน เนื่องจากได้รับรายงานว่าการบินไทยเริ่มแก้ไขบ้างแล้วเปิดรับสมัครพนักงานขนสัมภาระกระเป๋าแต่คนไม่ได้สนใจมาสมัครแตกต่างจากสมัยก่อนจะมีคนแห่กันมาสมัคร การทำงานนับจากวันนี้เป็นต้นไปกระทรวงคมนาคม จะไม่นำ ทอท.ไปผูกมัดกับใครทั้งสิ้น

ส่วนแผนระยะยาว จะเปิดสัมปทานเพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเสริมอย่างรวดเร็ว เพราะปี 2566 ผู้โดยสารจะเติบโตก้าวกระโดด และจะต้องเตรียมรับนักเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

อีกทั้งยังได้เตรียมรับเพิ่มเทคโนโลยีไบโอติก ระบบขนส่งสาธารณะจากสนามบินออกนอกเมือง เช่น รถแท็กซี่สนามบิน ซึ่งได้รับรายงานมีแท็กซี่อยู่ประมาณ 6,000 คัน หลังโควิดเหลืออยู่ 4,000 คัน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมให้นโยบาย ทอท.เน้นเรื่องความสะดวกรวดเร็ว ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะมีผู้โดยสารหนาแน่น ทอท.ดูแล 6 สนามบิน กรมท่าอากาศยานดูแลสนามบินภูมิภาคอีก 29 แห่ง ได้เตรียมรับมือไว้ทุกรูปแบบแล้วเช่นกัน เพื่อให้ผู้โดยสาร โดยเฉพาะ “ต่างประเทศ” สามารถผ่านการตรวจหนังสือเดินทางออกจากสนามบินได้ภายใน 30 นาที

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า แผนการลงทุนขยายสนามบินนานาชาติดอนเมือง ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวงเงินกว่า 36,000 ล้านบาท ระยะ 5 ปีหน้า 2566-2571 เพื่อเป้าหมายหลัก รองรับปริมาณผู้โดยสารอนาคตจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ตามข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุไทยติดอันดับ 9 ของโลก ปีละกว่า 200 ล้านคน ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายมาก ทั้งที่คมนาคมเสนอแผนขยายสนามบินไปตั้งแต่ปี 2557 หากตัดสินใจสร้างตอนนั้น จะลงทุนถูกกว่านี้ และสะดวกง่ายกว่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงคมนาคมฝ่ายเดียว แต่เรื่องไปติดอยู่ที่ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์” ตรวจสอบเป็นเวลานานจนกระทั่งเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ครม.มีมติอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ตามกรอบวงเงิน 36,000 ล้านบาท

ขั้นตอนการลงมือขยายดอนเมือง เฟส 3 จะเริ่มเปิดประมูลทั้ง 6 กลุ่มงานได้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป หากไม่มีการร้องเรียนหรือฟ้องศาล เพื่อให้ทันการก่อสร้างได้ภายในปี 2567 แล้วเสร็จปี 2570 จากนั้นก็จะเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังที่ 3 ได้ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป โครงการนี้คงจะต้องรอรัฐบาลครั้งหน้า เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันจะครบวาระเดือนมีนาคม 2566 แล้วมีรัฐบาลรักษาการเข้ามาแทนประมาณ 3-4 เดือน แต่ทั้งหมดนี้กระทรวงคมนาคมได้วางแนวบนพื้นฐานการปฏิบัติตามขั้นตอนจริง เพื่อให้แล้วเสร็จอีก 5 ปีข้างหน้า

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า โครงการขยายการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศตะวันออก ประมาณต้นปี 2566 เปิดกระบวนการประมูลหาผู้ดำเนินการตัวจริง ในกรณีที่ไม่โดนร้องเรียน ก็จะทำแล้วเสร็จตามแผน พร้อมกับรันเวย์ 3 แล้วเสร็จก็จะทำให้สุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ทั้งหมดปีละ 90 ล้านคน  

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท.กล่าวว่า โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศตะวันออก ครม.อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2557 หากจะก่อสร้างก็สามารถทำได้เลย แต่เนื่องจาก “การคิดราคาตามแบบ” จำเป็นจะต้องทำให้เป็นปัจจุบัน กรอบวงเงินเดิมตั้งไว้เกือบ 8,000 ล้านบาท แต่เวลาผ่านมา 9 ปี ราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 15-20 %

ล่าสุดจึงเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ขอปรับแบบขยับกรอบวงเงินจาก 8,000 ล้านบาท เป็นเกือบ10,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบการใช้เดิมตามมติ ครม. ปี 2557 จึงเป็นเพียงรายงานให้ ครม.รับทราบว่าทอท.ขอปรับรายละเอียดการใช้วงเงินใหม่ให้สอดคล้องกับแบบและต้นทุนค่าใช้จ่ายตามสถานการณ์จริง

ตามขั้นตอนแผนขยายดอนเมืองเฟส 3 เริ่มจาก 1.การออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2566 จากนั้นก็จะได้ทีโออาร์พร้อมแบบใหม่ 2.เปิดประกวดราคาปี 2567 ภายใต้การประมูลสัญญาเดียว 6 กลุ่มงาน แล้วให้ไปทำผู้ได้สัมปทานไปทำสัญญาจ้างคอนซอร์เตี้ยมกันเอง เพื่อเริ่มเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารดอนเมืองหลังที่3 ปัจจุบันมีอาคาร 1 ขนาดพื้นที่ 1.1 แสนตารางเมตร กับอาคาร 2 อีก 1.06 แสนตารางเมตร เมื่ออาคาร 3 เสร็จจะเชื่อม 1 กับ 2 เข้าด้วยกันทำเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศรองรับจาก 18 เป็น 22 ล้านคน แล้วนำอาคาร 3 รับผู้โดยสารระหว่างประเทศ จาก 12 เป็น 18 ล้านคน/ปี โดยจะเพิ่มเคาเตอร์เช็คอินอีก 50 % จาก 100 เป็น 157 จุด และเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองให้การจราจรผู้โดยสาร แล้วจะเจาะทางเชื่อมโทลเวย์เข้าสนามบินเพิ่มอีก 2 จุด ทางด้านหัวสนามบินทิศเหนือและด้านทิศใต้

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen