“ศักดิ์สยาม”ร้อนใจแจงยิบเหตุให้เปลี่ยนรถตู้โดยสารแบบสมัครใจ

  • “ศักดิ์สยาม”แจงยิบนโยบายเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสสมัครใจ
  • ยันไม่สวนทางนโยบายเดิมของรัฐบาลยุค คสช.
  • ชี้ที่ผ่านมาอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับ72%จากรถแค่ 2.9%เท่านั้น 

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงถึงกรณีข้อตกลงกับกลุ่มรถตู้โดยสารสาธารณะเรื่องนโยบายการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส ด้วยระบบสมัครใจว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือสวนทางกับนโยบายเดิมในสมัยยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่เคยมีนฌยบาย และยังคงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่ได้ห้ามเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส เพียงแต่ไม่ใช้มาตรการบังคับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่พอที่จะเปลี่ยนรถจากรถตู้ไปเป็นไมโครบัส 

ดังนั้นหากใช้มาตรการบังคับและผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัสอาจจะทำให้ปริมาณรถในระบบที่เคยให้บริการลดลง ส่งผลกระทบกับประชาชนเพราะไม่มีรถให้บริการเพียงพอ ประกอบกับรถไมโครบัสมีราคาสูงขึ้น หากเปลี่ยนก็จะทำให้ตันทุนผู้ประกอบการเพิ่มจนอาจต้องปรับราคาค่าโดยสาร และจะส่งผลกระทบกับประชาชนในที่สุด รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้นก็จะส่งผลให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถเร็วขึ้นเพื่อทำรอบเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการสนับสนุนให้ใช้รถไมโครบัสทดแทนรถตู้นั้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการรองรับต่อเนื่องด้วย เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดซื้อรถให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนรถมากกว่า 10,000 คัน เป็นวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท ,จัดหาระบบช่อมบำรุงรถไมโครบัสซึ่งเกือบ 100%เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่รถประกอบในประเทศ ดังนั้นระบบการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ ต้องมีความพร้อมไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบริการประชาชน

ตลอดจนจัดหาสถานที่จอดรถในลักษณะสถานีจอดรถเพื่อไม่ให้กระทบต่อปัญหาจราจร และจัดการเดินรถที่ไม่ทำให้ซ้ำเติมปัญหาจาจร เนื่องจากรถไมโครบัสมีชนาดใหญ่ขึ้นอย่างไรก็ตามการให้เปลี่ยนรถด้วยระบบสมัครใจไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อม แต่เชื่อว่าหากผู้ประกอบการรายใดพร้อมก็จะเปลี่ยนเอง เพราะเป็นรถใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีโอกาสที่ประชาชนจะใช้บริการมากขึ้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า การใช้มาตรการบังคับอาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย จำนวนมากต้องเลิกอาชีพ และออกจากระบบไป ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนการให้เปลี่ยนด้วยระบบสมัครใจ จะทำให้มีการตรึงราคาค่าบริการไว้ได้ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ารถตู้ไม่ปลอดภัยนั้น

ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุพบว่าเกิดจากสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจของผู้ขับและสภาพแวดล้อม 72 % ขณะที่สาเหตุจากยานพาหนะมีเพียง 2.9%เท่านั้น ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญผู้ขับยานพาหนะ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการปล่อยปละละเว้นไม่ตรวจสอบอย่างจริงจังเคร่งครัด และอะลุ้มอล่วยมากเกินไป ดังนั้นจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบซึ่งจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้มาก

อย่างไรก็ตามทาง กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ต้องตรวจสภาพรถและฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบรถไม่ผ่านการตรวจสภาพต้องลงโทษอย่างจริงจัง ส่วนการยายอายุรถจาก 9 ปีเป็น12ปี นั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพรถ เพราะหากสภาพรถไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะเป็นรถรับจ้างสาธารณะ ไม่ว่าจะอายุกี่ปีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาบริการประชาชน