“ศักดิ์สยาม”ยันปมที่ดินเขากระโดง อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์-โอนซื้อขายหุ้นจริงไม่มีซุก- คมนาคมไม่มีฮั้วประมูล

“ศักดิ์สยาม” ชี้แจง 4 ข้อสงสัย ยืนยัน ไม่เคยมีการแทรกแซงหน่วยงานภายใน พร้อมยันปมที่ดินเขากระโดง แจงอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์ ขอทุกฝ่ายรอฟังศาลชี้ รับขายหุ้นหจก.บุรีเจริญให้เพื่อนจริง ไม่มีเอี่ยวตั้งแต่ 16 ม.ค.61 ชี้ไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน เหตุเกิดก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่ประเด็นงบลงบุรีรัมย์ ยึดตามหลักเกณฑ์ ในอดีตได้รับงบน้อย ตอนนี้พัฒนาแล้ว ต้องสร้างระบบคมนาคมรองรับ


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในประเด็นที่ดินเขากระโดง, การขายหุ้นหจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เป็นนิติกรรมอำพราง, การจัดงบประมาณของกระทรวงคมนาคมไป จ.บุรีรัมย์ มากผิดปกติ รวมถึงการจัดทำโครงการ MR-MAP เป็นการลงทุนซ้ำซ้อนว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่เป็นความจริง ส่วนประเด็นเขากระโดงทั้งหมดนั้น ได้มีการหยิบยกมาอภิปรายหลายครั้งแล้ว ซึ่งปัญหาที่ดินเขากระโดงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์หน่วยงานของรัฐระหว่างกรมที่ดิน และรฟท.


ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยแทรกแซงการดำเนินการใดๆ แต่ได้มอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยึดหลักการตามระเบียบกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ตามที่กล่าวหาว่า บ้านพักของรมว.คมนาคม บริเวณเขากระโดง เป็นที่ดินของรฟท. ซึ่งตน และเครือญาติทราบมาตั้งแต่ต้นนั้น เคยชี้แจงไปแล้วว่า ตนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 ที่ออกตั้งแต่ 26 ต.ค. 2515 ซึ่งในขณะนั้นตนอายุเพียง 10 ปี เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่า เอกสารสิทธิ์ฉบับดังกล่าง เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมาย โดยกรมที่ดิน


สำหรับประเด็นที่กล่าวหาว่าตนแทรกแซงการทำงานของรฟท. ขอยืนยันว่า ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ รมว.คมนาคม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ได้บริหารจัดการ และพัฒนาการดำเนินการในที่ดินของ รฟท. โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมมีนโยบายให้รฟท. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของกรมที่ดินในการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ให้ดำเนินการตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ให้ปฎิบัติด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค โปร่งใส และให้รายงานความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน


ปัจจุบัน รฟท. ใช้สิทธิ์ทางศาลปกครอง โดย รฟท. เห็นว่าต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยใช้สิทธิ์ทางศาลปกครอง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน โดยการฟ้องกรมที่ดินในฐานะนายทะเบียน ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินทั้งแปลง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ซึ่งจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และรัดกุม มิให้ที่ดินส่วนใดส่วนหนึ่งตกหล่น และระยะเวลาในการพิจารณาคดีจนถึงที่สุด มีเพียง 2 ศาลเท่านั้น


ขณะนี้ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมแล้ว หลังจากนี้ต้องรอคำวินิจฉัยของศาล ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และปฎิบัติไปตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้มีข้อพึงระวังในประเด็นการกล่าวหา กรณีเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากมีการวิจารณ์ให้เกิดความเสียหายต่างๆ อาจเป็นการก้าวล่วงการพิจารณาของศาล และอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งทุกคนต้องให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม
ส่วนกรณีที่ดินที่นายชัย ชิดชอบ (บิดา) เคยเช่าที่ดินของรฟท. มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ได้ทำสัญญาเมื่อปี 2516 ซึ่งเป็นคนละแปลงกับโฉนดที่ดินเลขที่ 3466


สำหรับประเด็นข้อกล่าวหา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตามที่กล่าวหาว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของที่ดินสามารถนำผลของคำพิพากษาใช้ยันบุคคลภายนอกได้


นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอกเว้นแต่ในข้อต่อไปนี้ (2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ใด้ว่าตนมีสิทธิ์ดีกว่า ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงอื่นๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่บริเวณเขากระโดงเป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ทางราชการออกให้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง ในขณะนี้ผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ยินยอมโต้แย้งได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ดีกว่าการรถไฟฯ ด้วยเหตุดังกล่าว การรถไฟฯ จึงได้ใช้สิทธิ์ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อพิสูจน์สิทธิดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนขั้นตอนของกฎหมาย


ส่วนกรณีเรื่องที่ดินที่เขากระโดง ที่มีการกล่าวหาว่าตนสั่งการถ่วงเวลาไม่ให้มีการดำเนินการในการบังคับใช้ในกรณีที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 62 ให้มีการดำเนินการกับที่ดินของนาย A การดำเนินการดังกล่าว การรถไฟฯ ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการ คือต้องมีการสืบทรัพย์สิน และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมบังคับคดี ซึ่งการรถไฟฯ ต้องรอ ทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ ไม่มีการละเว้นหรือเลือกปฎิบัติกับใคร


สำหรับประเด็นการขายหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ เป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ได้มีการซื้อขายกันจริงกับเพื่อนของที่ชื่อ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 61 โดยมีเอกสารการชำระเงิน จากธนาคารธนชาต มีการรับโอนเงินทั้งหมด 3 ครั้ง รวม 119,500,000 บาท และหนังสือรับรองบริษัทก็ได้รับการแก้ไขแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 61 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 61 ตนจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของหจก.บุรีเจริญ เป็นต้นไป ส่วนเงินที่ได้รับมาจากการขายหุ้นนั้น ได้นำไปชำระหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินทางธุรกิจ


ส่วนประเด็นที่มีข้อซักถามว่าทำไมการจดการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ จึงไม่ยื่นหลักฐานไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียว คือ กรณีที่มีการเพิ่มเงินลงทุน หรือจดใหม่ แต่กรณีที่มีการซื้อขายไม่ต้องยื่น

นอกจากนี้ กรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเรื่องนี้ไม่มีการรายงานทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอระบุว่า กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ตนยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งส.ส. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 62 ซึ่งตามกฎหมายต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ณ ขณะนั้นภายใน 30 วัน ซึ่งตนได้แจ้งไปเรียบร้อยแล้ว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องต่อมาที่มีการตั้งข้อกล่าวหาว่า มีการฮั้วประมูลงานของกระทรวงคมนาคม ขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ และไม่จริง เนื่องจากงานของกระทรวงคมนาคม ต้องดำเนินการด้วยการคำนึงถึง 4 ข้อหลัก ที่ข้าราชการต้องยึดถือปฎิบัติ คือ 1) ต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย 2) ต้องถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3) ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และ 4) ต้องรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ การประมูลไม่ได้ทำโดยกระทรวงคมนาคม แต่เป็นการดำเนินการประมูลโดยใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า E-Bidding ซึ่งดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้า งและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 นอกจากนี้ การดำเนินการยังมีกฎหมายอื่นที่ต้องปฎิบัติตาม เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 หากมีการฮั้วประมูล ผู้เสนอราคาจะมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย

ประเด็นต่อมา ที่มีการกล่าวหาว่า กระทรวงคมนาคม มีการจัดงบประมาณของกรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวงไปที่จังหวัดบุรีรัมย์มากผิดปกติ ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินการจัดทำงบประมาณ จะต้องพิจารณาการขอตั้งและงบประมาณที่ได้รับปี 57-66 ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า จังหวัดอื่นๆ ได้รับงบประมาณมากกว่าจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ ในช่วงปีหลังๆ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพราะในอดีตได้รับการจัดสรรงบน้อย จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กระจายทั่วทุกจังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 64-26

สำหรับประเด็นที่ว่ามีการประกวดราคา คู่เทียบ หรือฮั้วประมูลหรือไม่นั้น งานจัดซื้อจัดจ้างของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ซึ่งได้มีระเบียบ วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดไว้ ทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่ การประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง

ทั้งนี้ โดยทั่วไปกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะใช้วิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยการประกวดราคา e-Bidding โดยการประกวดราคาด้วยวิธี e-Bidding ผู้ประกอบการจะต้องซื้อเอกสารประกวดราคาและยื่นเสนอราคา ผ่านระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยไม่ได้พบปะกัน ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะไม่ทราบรายชื่อผู้เสนอราคาและราคาที่ยื่นเสนอ จนกว่าระบบ e-GP จะแจ้งผลให้ทราบ จึงทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐไม่มีโอกาสได้เจอกันก่อนวันทำสัญญา

และประเด็นสุดท้าย ข้อกล่าวหาโครงการ MR-MAP มีความซ้ำซ้อนโครงการรถไฟทางคู่ ความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ทำให้เกิดการแย่งปริมาณผู้โดยสารกันเอง เกิดการขาดทุน ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระ เกิดหนี้สูงถึง 5.7 ล้านล้านบาท ผลประโยชน์ไม่ตกถึงประชาชนในระดับพื้นที่ นายศักดิ์สยาม กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลมีกรอบแนวคิดในการวางแผนแม่บท MR-MAP คือ 1. แก้ปัญหาของประเทศในระบบคมนาคมขนส่งที่มีมาในอดีตการปะปนกันของรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถส่วนบุคคลที่สัญจรในเมือง 2. สร้างโอกาสสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเชื่อมภูมิภาคเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง และ 3. วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องแก่ประเทศไทยอย่างเป็นระบบ วางแผนพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน นอกจากนี้ ในเรื่องรูปแบบการลงทุน จะเน้นให้ลดการลงทุนของภาครัฐ ภาครัฐจะลงทุนบางส่วนร่วมกับเอกชน และจำเป็นต้องพิจารณาให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าร่วมลงทุนได้ด้วย