‘ศปถ.’ เข้มเฝ้าระวัง ‘7วันอันตราย’ ช่วงสงกรานต์​11-17เม.ย. วาง 5 มาตรการป้องเจ็บ-ตาย

  • เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจปลอดภัย
  • จากอุบัติเหตุทางถนน

วันที่ 8 เมษายน 2566 นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนจึงได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”ดำเนินการช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 17เม.ย.นี้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจและปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน

สำหรับมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน มีดังนี้ 1.มาตรการด้านการบริหารจัดการ จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระดับส่วนกลาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่กับการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (Action plan) ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงและบริบทของพื้นที่ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการระดับจังหวัด รวมถึงใช้กลไกของคณะทำงานวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในการสืบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก อุบัติเหตุใหญ่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพ การลดปัจจัยเสี่ยงในระดับพื้นที่ ลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุเชิงพื้นที่ โดยจัดทำประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน ดำเนินมาตรการเคาะประตูบ้าน จัดตั้งด่านครอบครัวและด่านชุมชน การจัดกิจกรรมทางศาสนา”1 อำเภอ 1 กิจกรรม” รวมถึงกำหนดมาตรการสร้างความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และดูแลความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ

นายบุญธรรม กล่าวอีกว่า 2.มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม แก้ไขปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม โดยสำรวจและปรับปรุงเส้นทางเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ ทางร่วม ทางแยก สิ่งอันตรายข้างทาง (Roadside Hazard) และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ให้มีความปลอดภัย รวมถึงสร้าง “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” อีกทั้งกำหนดแนวทางป้องกันอุบัติเหตุทางถนนบริเวณจุดตัดทางรถไฟและเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนจากการหลับในบนถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เปิดช่องทางพิเศษ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางพร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางลัด ทางเลี่ยงเมือง และข้อมูลจุดเสี่ยงจุดอันตราย อีกทั้งเตรียมจุดพักรถและจุดบริการให้พร้อมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน

3.มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ เข้มงวดยานพาหนะให้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยตรวจสอบสภาพรถและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ พร้อมคุมเข้มผู้ประกอบการรถเช่าหรือรถตู้ส่วนบุคคลให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงกวดขันรถกระบะ ที่บรรทุกน้ำหนักเกินและรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะเสี่ยงอันตราย อีกทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้พร้อมก่อนเดินทาง

4.มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เข้มงวดพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ขับรถย้อนศร รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงเข้มข้นการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ โดยเฉพาะกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือมีผู้เสียชีวิต อีกทั้งบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา และสถานบริการอย่างเข้มข้นตลอดจนกวดขันการขายสิ่งของและการจอดรถบริเวณไหล่ทางในลักษณะเสี่ยงอันตราย มุ่งสื่อสารข้อมูลด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับชุมชน ทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมาย สถานการณ์อุบัติเหตุ การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางหอกระจายข่าว เสียงตามสาย และวิทยุชุมชน และ5.มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย เครื่องมืออุปกรณ์ และระบบการติดต่อสื่อสารให้พร้อมช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ และส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาล ความคุ้มครองด้านการประกันภัย

“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้มข้นสร้างความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ในมิติเชิงพื้นที่มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย” อธิบดีปภ. กล่าว