วอนภาครัฐออกยากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังภาพรวมทั้งตลาดมูลค่า-ยอดโอนกรรมสิทธิ์ครึ่งปีแรกลดฮวบ

  • พฤกษา” เร่งปล่อยหมัดเด็ดบุกตลาดครึ่งปีหลัง รับมือเศรษฐกิจผันผวน
  • ปรับลดแผนเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงลดเป้ายอดขายและปรับเป้ารายได้ใหม่
  • โชว์ผลงานครึ่งปีแรกทำรายได้รวม 19,662 ล้านบาท โต 3% กำไร 2,618 ล้านบาท โต 8%
  • เผยวอนรัฐอัดยาแรงกระตุ้นภาคอสังหาฯ แก้ผลกระทบแอลทีวี

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ว่า บริษัทได้ปรับแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 26 โครงการ มูลค่ารวม 26,952 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นเรียลดีมานด์ ออกสินค้าบ้านเดี่ยวราคา 5-7 ล้านบาท และทาวน์โฮม 3-5 ล้านบาทมากขึ้น รวมถึงคอมโดมิเนียมพรีเมียม โดยจะเน้นทำเลที่มีศักยภาพวิเคราะห์ตลาดในโซนที่มีความต้องการจริงๆ รวมถึงใช้กลยุทธ์การขายแบบครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังได้ลดเป้าการเปิดโครงการลงเหลือ 40 โครงการ มูลค่า47,444 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ 55 โครงการ มูลค่า 68,100 ล้านบาท และปรับลดเป้าหมายรายได้รวมเหลือ 45,000 ล้านบาท จากเป้าเดิมที่ 47,000 ล้านบาท รวมถึงปรับลดเป้ายอดขายลงด้วยอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 54,000 ล้านบาท โดยเป็นผลจากบริษัทได้วิเคราะห์การเปิดโครงการที่เน้นทำเลที่มีศักยภาพ ไม่เปิดเพื่อเอาจำนวนแต่เปิดเน้นคุณภาพ 

นางสุพัตรา กล่าวว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรกบริษัทสามารถทำรายได้รวม 19,662 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3% ทำกำไรได้อยู่ที่ 2,618 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขายอยู่ที่ 23,368 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้รวมทั้งสิน 36,938 ล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ปีนี้ 17,435 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลครึ่งปีแรกมีมูลค่าอยู่ที่ 200,650 ล้านบาท เติบโตลดลงจากปีก่อนถึง 13% ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือน เม.ย-พ.ค.ที่ผ่านมา มียอดโอนอยู่ที่ 41,906 ล้านบาท ลดลงถึง 24% ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตลาดเกิดการชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี)

“ในมุมของผู้ประกอบการก็อยากวอนภาครัฐให้ออกมาตรการมากระตุ้นภาคอสังหาฯ ลดค่าธรรมเนียมการโอน หรือจะเป็นการชะลอการบังคับใช้แอลทีวีออกไปก่อน ร่วมถึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรีบเคาะมาตรการแอลทีวีที่กระทบกับผู้กู้ร่วมถึงประเด็นที่ว่าหากไปซื้อที่อยู่อาศัยเอง นั้นถือว่าเป็นสัญญาที่ 2 ซึ่งจะต้องวางเงินดาวน์ที่เยอะขึ้น ร่วมถึงจะได้รับสินเชื่อต่อหลักประกันไม่เกิน 80% ซึ่งก็ทำให้โอกาสมีบ้านอยากขึ้นไปอีก”