“วงษ์สยามก่อสร้าง” จี้กรมธนารักษ์ เร่งรัดเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำภาคตะวันออก

  • หากล่าช้าเกิดความเสีย
  • จำเป็นต้องฟ้องรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่
  • ทั้งทางอาญาและแพ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด(มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอให้เร่งรัดการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่องส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือท่อส่งอน้ำอีอีซี  จากเดิมเลื่อนการลงนามเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อรัฐและบริษัทผู้ชนะประมูล 

โดยหนังสือที่ส่งถึงกรมธนารักษ์นั้น ระบุว่า บริษัทฯ​ เพื่อขอให้เร่งรัดกำหนดวันการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่องส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือท่อส่งอน้ำอีอีซี เนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว โดยคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้เห็นชอบให้มีการลงนามกับบริษัท ในฐานผู้ชนะประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาแต่อย่างใด ทำให้บริษัทได้ผลกระทบในการเตรียมการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานตามข้อเสนอของโครงการและความเสียหายแก่บริษัทอีกด้วย 

อีกทั้งการทอดเวลาการลงนามในสัญญาออกไป  ยังส่งผลให้กรมธนารักษ์ ได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งรายได้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้เดือนละ 41.09 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนรายเดือน 3.72 ล้านบาท  ส่วนแบ่งรายได้เดือนละ 37.37 ล้านบาท  และหากกรมธนารักษ์ ยังคงให้คู่สัญญาเดิม ครอบครองให้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไป โดยจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิม  อาจมีข้อครหาไม่ดูแลปล่อยให้มีการใช้ทรัพย์สินโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดความเสียหายที่จะเกิดแก่หน่วยงานรัฐและเอื้อประโยชน์ต่อผู้แพ้ประมูล

ทั้งนี้หากยังมีการประวิงเวลาในการปฎิบัติหน้าที่ตามพันธะของรัฐที่มีต่อบริษัทฯซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลให้เนิ่นนานออกไป และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯจนไม่อาจเยียวยาได้ ดังนั้นบริษัท จึงขอสงวนสิทธิในการดำเนินคดีต่อหน่วยงานของรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งอาญาและทาแพ่งจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องสิทธิของบริษัท

นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ได้เตรียมทีมทนายความ ในการดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวผลการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี  รวมทั้งฟ้องศาลอาญา ประเด็นที่ทำให้รัฐเสียหายจากการลงนามสัญญาบริหารโครงการล่าช้า ซึ่งความเสียหายส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นจึงต้องยื่นฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิของบริษัท