ลุ้น!!หนี้เสียแบงก์รัฐเพิ่ม เหตุุสนับสนุนมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน

  • ออมสิน-ธอส. ไร้กังวลหนี้เสียเพิ่ม
  • ทุนสำรองสูง 44,000 ล้านบาท
  • ธ.ก.ส.น่าเป็นห่วงหวั่นแตะ 16%

ผู้เสื่อข่าวรายงานว่า  ขณะนี้ออมสินมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 2.7% มูลค่า 60,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ หากเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างรวม 2.2 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ระดับกว่า 3.5% อย่างไรก็ดี ออมสินมีงบสำหรับรองรับ NPL ได้ถึง 3.5% แบงก์จึงจะทยอยปล่อยให้สัดส่วนหนี้เสียไหลเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 2565 NPL จะอยู่ที่ระดับ 2.8% ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่ออมสินสามารถบริหารจัดการได้ และไม่ได้น่ากังวลหากเทียบกับสถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่น

ทั้งนี้ นอกจากการสำรองรายบัญชี เพื่อรองรับหนี้เสียแล้ว ออมสินยังมีการตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับหนี้เสีย และสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคง จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเงินสำรองส่วนเกินอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้เพิ่มสัดส่วนเป็น 44,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2565 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 47,000-48,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 ล้านบาท ตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9)

ทั้งนี้การรองรับ NPL จากการตั้งสำรองนั้น เช่น มีการตั้งสำรอง 50,000 ล้านบาท และเป็นหนี้เสีย 50,000 ล้านบาท จะมีส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกันที่หักออกไปก่อน ฉะนั้น วงเงินตั้งสำรอง ดังกล่าวก็จะสามารถรองรับ NPL ได้สูงถึง 80,000 ล้านบาท ดังนั้น จากนี้ไป หากออมสินมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าห่วง 

สำหรับสถานการณ์หนี้เสียของแบงก์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งสถานการณ์โควิด เงินเฟ้อที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้ามาซ้ำเติมด้วย จึงทำให้เกษตรกรขาดสภาพคล่องประสบปัญหาในการชำระหนี้ ส่งผลให้ขณะนี้ ธ.ก.ส. มี NPL อยู่ที่ประมาณ 13% อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า จะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความสามารถถกลับมาชำระหนี้ได้ ประกอบกับรัฐบาลได้ออกโครงการประกันรายได้ข้าว เพื่อมาช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ก็จะมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกช่องทางหนึ่ง ให้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ 

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2565 (1 เม.ย.-30 ก.ย.65) NPL อยู่ที่ระดับ 12.5% อย่างไรก็ดี ธนาคารก็จะให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่นยืน โดยคาดว่าจะทำให้สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค. 66) สัดส่วน NPL จะอยู่ที่ระดับ 7%

“ยอมรับว่าสัดส่วน NPL เพิ่มสูงขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเผชิญภาวะข้อจำกัดทางด้านการเงิน ซึ่งหาก ธ.ก.ส.เข้าไปเร่งจัดเก็บก็คงไม่ใช่ เราจึงจะเข้าไปช่วยดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 65 เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ขณะนี้ธอส. มี NPL อยู่ที่ประมาณ 63,300 ล้านบาท ลดลงมา 1,780 ล้านบาท จากเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 65,000 ล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่ของธอส. พ้นจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร แล้วมีสถานะกลับมาชำระหนี้ได้ปกติแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการของแบงก์ได้ผลในการที่ประครองลูกหนี้ออกไปอีก 3 เดือน 

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2565 นี้ สถานการณ์ NPL ของแบงก์จะลดลงมาอีก อยู่ที่ระดับ 60,000 ล้านบาท โดยคาดว่าหลังจากนี้หนี้เสียจะลดลงไปถึง 5,000 ล้านบาท เนื่องจากธอส. ได้ออกมาตรการดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ M22 สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ธนาคารออกมาเพื่อต้องการแก้ไขหนี้ให้กับลูกค้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้มีลูกค้าเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท