รู้ยัง?ทางหลวงชนบทช่วยเกษตรกรช่วงภัยแล้งจ้างแรงงานทั่วไทย

  • “ศักดิ์สยาม”คิดเพิ่มรายได้ช่วยเกษตรกรฤดูแล้งทางหลวงชนบททำ
  • จ้างแรงงานในพื้นที่ทางหลวงชนบทกว่า 8 พันคนทั่วประเทศ
  • มั่นใจใช้งบประมาณกว่า 808ล้านบาท สร้างรายกระจายรายได้ทั่วถึง

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.)เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ให้ความสำคัญในการดำเนินการจ้างแรงงานในพื้นที่มาร่วมดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ในส่วนของกรมทางหลวงชนบทได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยแบ่งการจ้างงานออกเป็น 2 ลักษณะงาน คืองานบำรุงปกติบนสายทางและงานภายในสำนักงาน และ งานก่อสร้างทาง (ก่อสร้างถนนลาดยาง/คอนกรีต) งานบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงชนบท ซึ่งทั้ง2ประเภทของงานจะมีการจ้างงานรวมกันกว่า 8,174 คน ทั้วประเทศ ใช้งบประมาณรวมกว่า 808.472ล้านบาท


ทั้งนี้งานที่จะต้องมีการจ้างงานทั้ง 2 ประเภท ดังกล่าว จะประกอบด้วย 1.งานบำรุงปกติบนสายทางและงานภายในสำนักงาน ประกอบด้วย งานปะซ่อมหลุมบ่อ ตัดหญ้าข้างทาง ทำความสะอาดรางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ปรับปรุงอุปกรณ์จราจรให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี งานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง และงานด้านวิศวกรรม โดยครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,336 สายทาง หรือ 48,597.753 กิโลเมตร โดยกรมคาดว่าจะสามารถจ้างแรงงานในพื้นที่ทั้งประเทศรวม 7,230 คน สร้างมูลค่าให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศตลอดปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 771.463 ล้านบาท

2.งานก่อสร้างทาง (ก่อสร้างถนนลาดยาง/คอนกรีต) งานบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงชนบท (ปรับปรุงโครงสร้างระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบปิด งานซ่อมฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ งานป้องกันการกัดเซาะตอม่อสะพาน งานซ่อมสร้างถนนเชิงลาดสะพาน) และงานอำนวยความปลอดภัย (งานก่อสร้างเพื่อยกระดับมาตรฐานสะพาน งานปรับปรุงบริเวณย่านชุมชน งานปรับปรุงบริเวณคอขวดไหล่ทาง)

นายปฐม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เป็นงานที่ดำเนินการเอง คาดว่าจะสามารถจ้างแรงงานในพื้นที่ทั้งประเทศรวม 944 คนสร้างมูลค่าให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศตลอดปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 37.009 ล้านบาท เมื่อรวมจำนวนการจ้างแรงงานทั้ง 2 ลักษณะงานแล้ว คิดเป็นจำนวน 8,174 คน งบประมาณรวมกว่า 808.472ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมมีแผนที่จะดำเนินการจ้างแรงงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป เพื่อเป็นการกระตุ้นและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน