รับมือ! ดอกเบี้ยขาขึ้นมาเร็วกว่าที่คุณคิด

เป็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ..ที่ผ่านมา หลังหลายประเทศในโลกทยอยประกาศ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” สูงขึ้นกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ 

ทั้ง อังกฤษที่เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นไปกว่า 9% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ที่ล่าสุดประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงถึง8.6%  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน พ.ค.ของไทยสูงถึง 7.1% 

ธนาคารกลางหลายประเทศตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดการพุ่งขึ้นต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปรวมทั้งลดความผันผวนของเงินทุนไหลออก อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง

และที่เริ่มเป็นห่วงกันคือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของโลกที่เปลี่ยนเป็น “ขาขึ้น” แล้วในขณะนี้อาจจะมีอัตราเร่ง และขนาดของการใช้ที่รุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า 

โดยจากเดิมที่คาดกันว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนลดระดับของการผ่อนคลายนโยบายการเงินจากแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ  เข้าสู่นโยบายการเงินแบบปกติที่รักษาเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่  และจะไม่เข้าสู่เรดโซน “เขตอันตราย” ที่จะใช้นโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยมากเกินไปจนกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก

แต่สถาการณ์ของเงินเฟ้อของหลายประเทศในขณะนี้ ที่เข้าสู่การกระจายตัวเป็นวงกว้าง เริ่มเห็นราคาสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพเพิ่มขึ้นในแทบทุกหมวดสินค้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหาร และพลังงานปรับตัวเร่งขึ้นเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางที่ปรับตัวสูงขึ้น เหล่านี้ แสดงให้เห็นสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยในโหมดธรรมดาอาจจะช้าเกินไป 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ธนาคารกลางอื่นๆ ในโลก กำลังจับตามองต้นแบบการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างใกล้ชิด โดยจากที่เคยมองว่า ในในการประชุมนโยบายการเงินปีนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งแต่จะขึ้นครั้งละ 0.5% เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวแรงจนเกินไป 

ล่าสุด หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไม่หยุด แม้ว่าเฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้แรกไปแล้ว 0.5% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นต่อเนื่อง นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองว่า ยาที่เฟดใช้อาจจะไม่แรงพอ และเฟดจำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้นในระยะต่อไป 

โดยสถาบันวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% ในการประชุมครั้งต่อๆ ไปนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

จากนี้คงต้องพิสูจน์ฝีมือ “ลุงเจย์” เจอโรม พาวเวล ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะสามารถสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรอบนี้ พร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing ลงจอดอย่างนุ่มนวลได้หรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อเนื่อง แต่สัญญาณที่ส่งจากการแถลงข่าว ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่ากนง.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ “ช็อกตลาด” บ้านเราได้ระดับหนึ่ง

เพราะจากคาดการณ์เดิม ซึ่งสถาบันวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจทุกสำนัก มองว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านจากผลกระทบของโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างหนัก รวมทั้งหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในอัตราที่สูง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ธปท.น่าจะพยายามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งจะเป็นช่วงการกลับมาของการท่องเที่ยส และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า

แต่แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงเร็วกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งตัวขึ้นแสดงถึงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวเป็นวงกว้าง รวมทั้ง เงินเฟ้อคาดการณ์ที่แสดงมุมมองระยะปานกลางของภาคธุรกิจและประชาชนต่อแนวโน้มต้นทุน และเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 

ทำให้กนง.มองว่า “หากไม่ชะลอการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อในขณะนี้ อาจจะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และเกิดวงจนอุบาทว์ของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุด เหมือนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศกำลังประสบอยู่ในขณะนี้”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาย้ำสัญญาณของ กนง.โดยระบุว่า“ภายใต้โจทย์ของธปท.ที่ยังเหมือนเดิม คือการช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ ลดลงแล้ว ขณะที่น้ำหนักความเสี่ยงของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก และอาจจะมีผลกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ราบรื่นได้”

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อส่งสัญญาณ “ถอนคันเร่ง” มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อที่จะถ่วงไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของภาคธุรกิจและประชาชน ไม่ให้สูงขึ้นมากเกินไป จนกลายเป็น  second round effects หรือการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 หรือจนควบคุมไม่ได้ โดยสถานการณ์ในขณะนี้เงินเฟ้อของเราสูงอยู่ระดับต้นๆ ในภูมิภาค ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราต่ำที่สุดในภูมิภาคเช่นกัน

และที่ชัดเจนมากขึ้นคือ ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า “การขึ้นดอกเบี้ยทำช้าไม่ได้ ช้าเกินไปไม่ดี เพราะถ้าปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด วงจรการขึ้นราคารอบ 2 รอบ 3 เกิดขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย ในลักษณะถอนคันเร่งนโยบายการเงินอาจจะไม่พอ อาจจะต้องแตะเบรค ซึ่งจะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่า”

สอดคล้องกับสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินหลายแห่งที่มองว่า ในการประชุม กนง.ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้นั้น คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในอัตรา 0.25% 

อย่างไรก็ตาม มีสถาบันวิเคราะห์อย่างน้อย 2 แห่ง (ในขณะที่เขียนมองว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 3 ครั้งในการประชุมที่เหลือในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25-0.5% ซึ่งเท่ากับว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่10 ..ที่จะถึงนี้ และหมายความว่า ดอกเบี้ยของไทยขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 5 เดือน

แน่นอนว่า ตลาดเงิน และตลาดทุนของไทยจะเข้าสู่ภาวะผันผวนต่อจากนี้ ไปจนถึงต้นเดือน ส.ค.นักลงทุนติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อพุ่ง รวมทั้งตัวเลขการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจว่าจะเป็นไปได้ต่อเนื่องหรือไม่

และที่สำคัญกว่านั้นคือ หากเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ แล้ว จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าไรจึงสามารถ “หยุด” เงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงอย่างที่คาดหวังไว้

ส่วนใครที่ “มีหนี้” เป็นลูกหนี้ ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ วันนี้คงจะต้องเริ่มมองภาพให้ยาวขึ้น และประเมินฐานะการเงินของตัวเองให้ถ้วนถี่ ว่า เรายังคงผ่อนส่งหนี้ที่มีอยู่ได้ โดยไม่กลายเป็นหนี้เสีย ถูกยึดบ้าน ยึดรถ ริบบัตรเครดิต จนเสียประวัติทางการเงินได้หรือไม่ หรือคิดว่าผ่อนไม่ไหวเข้าสู่ที่นั่งลำบากแล้ว ก็ขอให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส ถ้าเรายังใจสู้ และพยายามหาโอกาสนั้นให้เจอและนำมาเป็นของเรา