รองโฆษกรัฐฯ ชี้ “ประยุทธ์”บริหารถูกทาง เศรษฐกิจฟื้นตัว S&Pคงอันดับความน่าเชื่อถือ

  • จากปัจจัยท่องเที่ยวโตเกินคาด ประมาณ 10 ล้านคนในปี65
  • ชี้จากผลสำเร็จมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ-บูมท่องเที่ยว
  • ดันดัชนีเชื่อมั่นSME โตต่อเนื่อง 3 เดือน

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 53.1 โดยที่เดือนกันยายน และสิงหาคม 2565 มีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.9 และ 51.2 ตามลำดับ โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 มีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ อีกทั้งราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อกำไรของภาคธุรกิจ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า จากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมวดเสื้อผ้าและสิ่งทอที่รับตัดเสื้อผ้าออกงาน สกรีนเสื้อ ทำเสื้อทีม ได้อานิสงส์จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมไปถึงของที่ระลึกที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจขยายตัว ภาคการบริการและภาคการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 55.7 และ 51.3 ตามลำดับ และด้วยช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวและเทศกาลวันหยุดยาว ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นในระดับ 53.7 โดยที่ทุกภาคธุรกิจยังมีความความเชื่อมั่นเกินค่าฐาน 50 เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อธุรกิจในอนาคต

“ด้วยแนวคิดและนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจึงเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างจริงจัง ทำให้ได้รับการยอมรับว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ที่เพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย “คนละครึ่ง” ส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการ SME ได้จริง และเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแม่เหล็กตัวดึงดูดรายได้เข้าประเทศและจะกระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ล่าสุดรัฐบาลจึงส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ SME ธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรม ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการให้กับธุรกิจโรงแรม (เช่น ร้านซักรีด) ธุรกิจติดตั้งระบบไฟฟ้า/ระบบปรับอากาศ ธุรกิจจัดเลี้ยง (catering) โดยมีการปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลกและจะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจาก S&P ถือเป็นบริษัทในเครือของ S&P Global Inc.สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก

โดยจากรายงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุเหตุผลสำคัญที่ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยมาจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย S&P คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 428,000 คน ในปี 2564 เป็นประมาณ 10 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และเศรษฐกิจไทย (Real GDP) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.9 ในปี 2565 เป็นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2565-2568

นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยที่ S&Pมองว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขณะที่ภาคการคลังมีเสถียรภาพ จากการลดการใช้จ่ายภาคการคลังตามสถานการณ์การระบาด ที่คลี่คลาย รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาลสุทธิและต้นทุนการกู้เงินมีเสถียรภาพ จึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขาดดุลงบประมาณลดลง และหนี้ภาครัฐบาลจะทยอยลดลงในระยะ 3 ปีข้างหน้า

ส่วนภาคการเงินต่างประเทศ พบว่าแม้ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศฟื้นตัว อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่ง S&P คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมา เกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ของ GDP ในปี 2566-2568

“จากมุมมองของ S&Pสะท้อนว่า การดำเนินการมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ มาถูกทางทำให้เศรษกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม และวางรากฐานสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล อยู่ในสายตาของชาวโลก ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ ในโครงการหลักๆ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3ที่จะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืน ” น.ส. ทิพานัน กล่าว