รฟม.ยืนยันเคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ภายใน 45 วัน-พร้อมร่าง เอกสารออกประกาศเชิญชวนใหม่ทันที

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี เดิมแล้ว ซึ่งจากรายงานการหารือของคณะกรรมการ ม.36 พบว่า หลังจากที่รอผลความคืบหน้าคดีข้อพิพาทมาแล้วระยะหนึ่ง แต่จนถึงปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด ดังนั้นเพื่อไม่ทำให้ผลของคดี ทำให้เกิดความล่าช้า กระทบไปทั้งโครงการ คณะกรรมการฯ จึงมองเห็นว่าการยกเลิกการประกาศเชิญชวนครั้งที่ผ่านมาจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยการยกเลิกออกประกาศเชิญชวนฯครั้งที่ผ่านมานั้น จะไม่มีผลเชื่อมโยงกับคดีพิพาทฯ ที่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาล เนื่องจากในเอกสารเชิญชวน รฟม.มีการสงวนสิทธิ์การยกเลิกไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามถายหลังจากนี้ รฟม.จะเร่งดำเนินการยกร่างเอกสารเชิญชวนใหม่ ก่อนนำออกประกาศให้เอกชนที่สนใจทราบ คาดใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง หรือ 45 วัน จะแล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการตามมาตรา 36 พิจารณาอนุมัติ อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกาศเชิญชวนครั้งที่ผ่านมา รฟม. จะนำมาถอดบทเรียน ไม่ให้การประกาศเชิญชวนครั้งใหม่เกิดปัญหาในลักษณะเดิมอีก เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกาศเชิญชวนครั้งแรก รฟม.ยึดแนวตามข้อมูลเอกสาร PPP โดยการประกาศเชิญชวนรอบใหม่นี้ รฟม.ยืนยันว่า จะดำเนินการอย่างรอบคอบมากที่สุด

ส่วนประเด็นที่ปัญหาข้อพิพาททำให้ต้องมีการออกประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ จะส่งผลให้โครงการล่าช้าจนต้องมีการปรับกำหนดการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าช่วงนี้หรือไม่นั้น ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า ปัญหาข้อผิดพลาดจากการประกาศเชิญชวนรอบแรกส่งผลให้เกิดความล่าช้าประมาณ 4-5 เดือน อยากให้ก็ตามหากโครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคตสามารถไปเร่งรัดงานในส่วนของการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าได้ ดังนั้นรฟม. จะยังไม่มีการปรับกำหนดการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายนี้ โดยจะยังคงกำหนดการเดิม คือเปิดให้บริการในปลายปี 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 142,789 ล้านบาท ซึ่งการประกาศเชิญชวนรอบแรก เมื่อเดือน พ.ย.63 มี 2 กลุ่มเข้ายื่นเอกสาร ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)