ยกเครื่องกติกาครั้งใหญ่!!

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือที่รู้จักในชื่อว่า ตลาดหุ้น นั้น ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เพื่อการลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก

เมื่อมีผู้เล่นลงสนามลงทุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ และนักลงทุน จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้  ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง

ปัญหาการตกแต่งงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลไม่จริงของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน ซึ่งส่งผลเสียหายต่อการลงทุน ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการยกเครื่องกฎกติกามารยาทครั้งใหญ่ ทั้งหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติต่างๆ  

“ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์ฯ พูดถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นในการยกระดับเกณฑ์กำกับดูแลใน 5 มิติ ที่จะครอบคลุมตั้งแต่ 1.กระบวนการ Listing  ปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทที่ขอจดทะเบียนทั้งใน SET และ Mai ไม่ว่าจะเป็น New Listing, Backdoor Listing รวมถึงการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trading) จะต้องผ่านการพิจารณาในลักษณะเดียวกัน

2. กระบวนการ Ongoing Obligations ให้เข้มงวดเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นภาระกับบจ.มากเกินไป โดยจะเพิ่มสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุนที่มากขึ้น ปรับปรุงเงื่อนไขการขึ้นเครื่องหมาย C ในกรณีของบริษัทที่มีรายได้น้อย ขาดทุนติดต่อหลายปี ผิดนัดชำระหนี้ ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน มีปริมาณถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ ฟรีโฟลท น้อย

3.กระบวนการ Trade Surveillance ด้วยการเพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ ซึ่ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย อยู่ระหว่างร่วมกันจัดตั้ง “Securities Bureau” ที่จะช่วยให้รู้สถานะของลูกค้า เช่น วงเงินโดยรวมของทุกสมาชิก ช่วยให้โบรกเกอร์วิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีขึ้น

4. กระบวนการ Delisting ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน และความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทที่เข้าข่าย

และ 5. กระบวนการ Escalation to Public โดยเพิ่มเหตุของการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย C (Caution) และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมในการแยกเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกันที่จะช่วยบ่งบอกถึงความเข้มข้น

ส่วนการกำกับซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามใช้มาตรการจากเบาไปหนัก เห็นได้จากกรณีหุ้นไอพีโอ หรือกรณีที่มีความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้วิธีให้ข้อมูลกับนักลงทุน เพื่อใช้พิจารณาประกอบตัดสินใจซื้อขาย, การให้บจ.ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อมีข้อมูลบางอย่างที่ส่งสัญญาณเตือนภัย, การออกข่าวเตือนกรณีหุ้นมีการซื้อขายที่ผิดปกติ และการสั่งให้หยุดพักซื้อขายชั่วคราว

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความพยายามครั้งสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งกระบวนการ ให้เหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์  ให้การซื้อขายเป็นไปอย่างเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม