มาถูกทาง?เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง

ภาพคนงานเข้าคิวลงเวลาออกหลังทำงานตลอด28วัน จาก CNN

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ในการปิดแคมป์คนงาน และลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการ เป็นเวลา 1 เดือน ใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดิมที่แพร่ระบาดอยู่ และสายพันธุ์เดลตาที่กำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยลดความแออัด และไม่เพียงพอของจำนวนเตียง และบุคคลากรทางการแพทย์ด้วย 

โดยมาตรการเยียวยาที่อนุมัติในหลักการนั้น  เบื้องต้นจะมีวงเงินรวมช่วยเหลือทั้งสิ้น ทั้งนายจ้างลูกจ้าง ในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม รวม 8,500 ล้านบาท 

จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ  1.การเยียวยาลูกจ้าง ผ่านระบบประกันสังคม วงเงิน 3,500 ล้านบาท ซึ่งในกรณีนี้ลูกจ้างที่อยู่ระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่น หากมีการส่งสมทบประกันสังคมเกิน 6 เดือน จะได้รับเงินเยียวยาในส่วนของการว่างงาน 50% ของฐานเงินเดือน  หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ซึ่งในกรณีนี้คือ ได้รับเป็นจำนวน 1 เดือน ตามที่รัฐประกาศมาตรการเข้มงวด

ขณะที่ การช่วยเหลือส่วนที่ 2 จะเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ในวงเงินที่อนุมัติขณะนี้คือ การช่วยเหลือเร่งด่วน ระยะที่ 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือ 3 กรณี คือ

2.1 ช่วยเพิ่มเงินให้กับแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เฉพาะที่เป็นสัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน  ทำให้แรงงานในกลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 9,500 บาทต่อคน

2.2 ให้เงินช่วยเหลือกับผู้ประกอบการหรือนายจ้างเพื่อช่วยประคองธุรกิจและการจ้างงาน โดยให้เงินช่วยเหือตามจำนวนลูกจ้างที่มีตามจริง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน หรือสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาทต่อราย

แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ทำกิจการคนเดียว ไม่มีลูกจ้าง ให้มาลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง เพื่อรับความช่วยเหลือ 3,000 บาท

2.3 กรณีผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หากต้องการรับความช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.2564 

โดยผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน เช่นเดียวกัน แต่ลูกจ้างจะยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 50% ของฐานเงินเดือนจากระบบประกันสังคม เนื่องจากยังส่งสบทบไม่ถึง 6 เดือนตามเกณฑ์ของสำนักงานประกันสังคม

ส่วนกรณีเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.2564  ผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท

โดยประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้  รัฐไม่ได้กำหนดแค่ กิจการก่อสร้าง และร้านอาหาร ซึ่งถูกควบคุมเข้มข้น แต่ย้อนหลังให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาด้วย ได้แก่กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 

รวมทั้ง กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมอุปกรณ์มือถือ ซ่อมเครื่องใช้ครัวเรือน ซ่อมเสื้อผ้า เครื่องหนัง ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมเครื่องดนตรี ร้านซักรีด ร้านตัดผม  ธุรกิจลดน้ำหนัก สปา แต่งเล็บมือ เล็บเท้า ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน 

ขณะที่ยังเดินหน้า โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3  รวมทั้ง โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เริ่มต้นพร้อมกันในวันที่ 1 ก.ค. เพื่อให้ประชาชนส่วนที่ยังทำงานได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวในส่วนของเงินเพิ่มเติม 5,000 ล้านบาท ของรัฐบาลนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์ หรือบางกรณีคือ 1 เดือน หลังจากนี้ จึงจะสามารนำออกมาใช้จริง 

เพราะในช่วง 1 สัปดาห์แรก กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน คณะกรรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนของแต่ละส่วน ทั้งจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ วิธีการให้ความช่วยเหลือ วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ และอื่นๆ  หลังจากนั้น จะนำเข้า ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

และหลังจากนั้น ต้องใช้เวลาต่อเนื่องอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถึงจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ 

“การคิดมาตรการก่อน แล้วค่อยทำแผนทีหลัง” ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ในทุกเรื่องจริงๆ ตั้งแต่กรณีปิดแคมป์โดยไม่มีมาตรการป้องกัน หรือ การประกาศตอนเที่ยงคืน เพื่อให้งดการกินอาหารในร้าน หรือการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ทำมาก่อนหน้าในหลายๆ โครงการ

ต้องมีติดขัด ขลุกขลัก สะดุดตัวเองมาต่อเนื่อง!!

อย่างไรก็ตาม แนวทางการช่วยเหลือเพิ่มกำลังซื้อโดยตรงแบบนี้ ถือเป็นมาตรการที่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า จำเป็นต้องประคองชีวิตและธุรกิจไว้่ก่อนในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้

แต่อย่างไรก็ดี จุดสำคัญของความสำเร็จหรือไม่ของรัฐบาล คือ ภายใน 1 เดือนที่หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ ในส่วนของการตรวจค้นพื้นที่หาผู้ติดเชื้อใหม่ให้ลดลงได้โดยเร็วที่สุดควบคุมพื้นที่โดยใช้มาตรการบับเบิ้ล และซีลไม่ให้เกิดการกระจายของเชื้อตัวเดิม และเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกำลังทวีจำนวนอย่างรวดเร็ว  รวมทั้งการยกระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุขของไทยให้รองรับจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น “ทำได้” หรือ “ไม่ได้” เอาอยู่หรือไม่อยู่

ทั้งนี้ ทั้งนั้น กูรูให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันต่อวันในขณะนี้ เชื่อว่า โอกาสที่จะจบภายใน 1 เดือนอาจจะมีเปอร์เซนต์ที่น้อยมาก ดังนั้น รัฐบาลเองอาจจะต้องเตรียมเม็ดเงินต่อเนื่องไว้สำหรับช่วยเหลือเยียวยาต่อเนื่อง ไปอีก 2-3 เดือนจากนี้ หรือมากกว่านั้น

ซึ่งเท่าที่ทราบมา อาจจะใช้ระบบ “โคเพย์” หรือ รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนในกับลูกจ้างให้กับนายจ้างที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้เคาะชัดเจนว่า จะช่วยเท่าไร และช่วยผู้ประกอบการส่วนใดบ้าง รวมทั้งการอาจจะมีการกลับมาใช้โครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ในเฟสต่อไป เพื่อรักษากำลังซื้อ 

ซึ่งได้แต่หวังว่า รัฐจะคิดเร็วขึ้น และทำเร็วขึ้นกว่านี้ เพราะโควิด-19 มันไม่ให้เวลาเราเลยจริงๆ !!!

ดังนั้น ในผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง และยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ควรจะมาลงทะเบียนในระบบประกันสังคมเพื่อให้มีชื่อในระบบไว้ก่อน หากมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมจะได้ไม่ตกหล่น เพราะโควิดระลอก3 อาจจะต่อไประลอก 4 และอยู่กับเราอีกนานนับปี

#Thejournalistclub #โควิด19 #เยียวยา#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ