มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในยุค “ของแพง-เงินเฟ้อ”

หากใครติดตาม สถานการณ์เศรษฐกิจ และการเงินของโลก จะพบว่า หลายประเทศซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกกำลังเผชิญหน้ากับ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ประกาศออกมาสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยอยู่ที่ 7.5% ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจน ที่จะลดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงลง เนื่องจากมองว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น มาจากทั้งด้านอุปทาน และอุปสงค์ เหตุเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับมาสู่ก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว

สำหรับประเทศไทยนั้น อัตราเงินเฟ้อในเดือน ..ที่ประกาศออกมา 3.23% ถือเป็นเดือนแรกเช่นกันที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงทะลุกรอบเป้าหมายนโยายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมของปี 65 ไว้ที่ 1-3% 

โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นแรงนั้น มาจากด้านอุปทาน หรือราคาสินค้าสำคัญที่อยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาพลังงานที่สูงขึ้นตามปัจจัยภายนอกประเทศ ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นมากเช่นกันโดยได้รับผลต่อเนื่องจากราคาเนื้อหมู ที่สูงขึ้นมากจากภาวะขาดแคลนผลผลิต 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาของ 2 หมวดที่สำคัญดังกล่าว ได้กดดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่ง ให้เพิ่มขึ้นตาม ทำให้สินค้าในหมวดที่เกี่ยวเนื่องพุ่งสูงขึ้น โดยราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนในแทบทุกหมวดสินค้า ขณะที่เราเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่ไก่ รวมทั้ง ราคาสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นผลจากราคาหมูที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่อง ให้ราคาอาหารทำสำเร็จ ทั้งทานในบ้าน และทานนอกบ้านปรับราคาสูงขึ้น

ธปท.ระบุว่า 5 อันดับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นมาก ประกอบด้วย 1. น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น  27% จากระยะเดียวกันปีก่อน2. เนื้อสัตว์ (เนื้อหมู/โคเพิ่มขึ้น 22% 3. ราคาเครื่องปรุงอาหาร เพิ่มขึ้น 9% 4. ไข่  เพิ่มขึ้น 6% และ 5.ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4% โดยในช่วงเดือน .ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนรายการสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทย 

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อยังมีราคาคงที่หรือลดลง ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ยังไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคา สินค้าในวงกว้าง นอกจากนี้ สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมีประมาณ 10% ของตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นอัตราปกติที่เกิดขึ้น และต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีสูงถึง 35%

ทั้งนี้ จุดที่ควรสังเกตุ คือ สินค้าที่มีการขึ้นราคาส่วนใหญ่นั้น เป็นสินค้าจำเป็นและคนซื้อบ่อย ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันพืช รวมทั้งราคาน้ำมันขายปลีก เป็นต้น ซึ่งเมื่ผู้บริโภคซื้อบ่อย ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นบ่อยครั้งและทำให้รู้สึกว่า ของแพงขึ้นมาก แต่หากเปรียบเทียบสินค้าอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งที่นาน ๆ คนซื้อจะซื้อสักครั้งหนึ่ง เช่นทีวี หม้อหุงข้าว ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงราคาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งนัก

โดย ธปท.ยังระบุด้วยว่า “ของแพง” นั้น แตกต่างจาก “เงินเฟ้อ” เพราะการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อนั้น  โดยเงินเฟ้อนั้นเป็นดัชนีเฉลี่ยของราคาสินค้าในตะกร้าสินค้าสำคัญ และเงินเฟ้อจะน่าเป็นห่วงและจำเป็นต้องดูแลอย่างเร่งด่วน หากเงินเฟ้อนั้นเกิดขึ้นจากด้านอุปสงค์ หรือคนมี “กำลังซื้อ” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเก็งกำไรสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่

ในขณะที่ “ของแพง” ในขณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “กำลังซื้อ” หรือ “ความต้องการซื้อ” ของคนไทยที่มีมากขึ้น แต่เกิดขึ้นจาก “สินค้าต้นทุน” ในการผลิต ทั้งฝั่งพลังงาน และอาหารมีราคาแพงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จากการศึกษาของธปท.พบว่า  กระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง

เพราะราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภคมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นกับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน ลักษณะสินค้าและปริมาณที่บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพงขึ้นมากหรือไม่

และหากคำนวณจากสัดส่วนรายได้ จะพบว่า  กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มสูง45% ของรายได้เมื่อเทียบกับกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่ 26% ขณะที่มีการบริโภคพลังงานในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ  11% และ 13% ของรายได้ตามลำดับ 

ในขณะที่ ด้านรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในภาคบริการ 8.1 ล้านคน และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ9.2 ล้านคน ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง และยังคงต่ำลงกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 หรือในปี2562 

ขณะที่หากพิจารณาจากการขึ้นราคาของสินค้า ที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยซื้อ และกลุ่มที่มีรายได้สูงซื้อ จะพบว่า ราคาสินค้าที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยซื้อประจำขึ้นราคาสูงกว่า กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางหรือสูงซื้อ เช่น ที่ผ่านมา ราคาหมูหน้าเขียงขึ้นราคาสูงกว่าหมูที่มีแบรนด์ใหญ่ขายในห้าง  หรือ อาหารสำเร็จบรรจุถึงที่ขายในตลาดก็ปรับขึ้นราคามากกว่า อาหารในร้านสะดวกซื้อ

เมื่อผลกระทบจากของแพง และเงินเฟ้อ เป็นไปในทิศทางที่กล่าวมา “คนไทยไม่ได้มีกำลังซื้อมากขึ้น คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต่อไปควรเป็นอย่างไร เราจะต้องหยุดหรือลดการใส่เงินเข้าไปในระบบ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อเหมือนที่นานาอารยะประเทศทำอยู่หรือไม่

ส่วนนี้ “นักเศรษฐศาสตร์” และ ธปท.มองตรงกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ซึ่งเศรษฐกิจยังคงฟื้นช้า และเปราะบาง รายได้ของคนจำนวนมากยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงที่แรงงานจำนวนหนึ่งจะหลุดไปจากวงจรของตลาดแรงงานอย่างถาวรจากโควิด-19

การเร่งให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ โดยการใส่เงินเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความต่อเนื่องของโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย และการส่งผ่านเงินจากผู้มีรายได้สูงสู่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผ่านโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย การเปิดโอกาสการสร้างอาชีพใหม่ และการประคองธุรกิจเก่า โดยช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งลดภาระการผ่อนส่งหนี้เก่าลงให้มากที่สุด

เรายังถอน หรือลดมาตรการจากภาครัฐไม่ได้ แม้ว่า รายได้ของภาครัฐจะลดลง รัฐบาลกู้เงินมากแล้วจำนวนหนึ่ง และความสามารถในการใช้จ่ายของภาครัฐจะลดลง เพราะ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องใช้เงินจาก “ภาครัฐ” ทั้งเงินที่ใช้ผ่านโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายที่หมดไป และเงินที่ใช้สำหรับกระตุ้นผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อต่อยอดการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ธปท.ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และต้องเร่งการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้เดิมให้มากขึ้น 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ภาครัฐต้องทำมากขึ้น คือ การปกป้องกลไกตลาดให้การปรับขึ้นราคาสินค้าในประเทศ เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่การเก็งกำไร กักตุน หรือ การตัดราคา เหมือนที่ผ่านมา ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งช่วยเหลือในการกระจาย และขนส่งสินค้าเพื่อให้เกิดปัญหาขาดตลาด ส่วนนี้จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มากกว่าการสกัดเงินเฟ้อบนกระดาษ

อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยอมรับตรงกันว่า โควิด-19 ได้ฉีกโลกออกเป็น 2 ด้าน เมื่อเรายังอยู่ในขาที่มีปัญหา ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ มาตรการที่รัฐต้องทำต่อเนื่องก็ต้องไปเป็นเพื่อตอบสนองความเปราะบางและการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าคนอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย