“มนัญญา”ยืนกรานแสดงจุดยืนแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย ย้ำชัด!ไม่เลื่อนนะจ๊ะ…

รมช. มนัญญาเรียกกรมวิชาการเกษตรถกด่วน ก่อนประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย 30 เม.ย. ลั่นข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องทวงศักดิ์ศรีของข้าราชการที่ดี โดยแสดงจุดยืนแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย ทำเพื่อประโยชน์เกษตรกรและประชาชน ชี้ไม่เลื่อนแบนไปสิ้นปี 2563 แน่นอน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเรียกผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติงาน ก่อนร่วมประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 30 เมษายน โดยนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รายงานว่า ได้ส่งข้อมูลตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยมาตรการรองรับทั้งสารทดแทนและวิธีการอื่นที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทุกภาคส่วน ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 โดยส่งถึงอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 เมษายน ซึ่งรมช. มนัญญากล่าวว่า ไม่เข้าใจเหตุใดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว

รมช. มนัญญา กล่าวว่า ได้ซักซ้อมความเข้าใจแก่ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นกรรมการวัตถุอันตรายว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับมติในการประชุมครั้งที่ผ่านมาซึ่งเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส จากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 รวมถึงการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้ปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายครบถ้วยจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปเป็นสิ้นปี 2563 ตามที่มีภาคเอกชนหรือบุคคลทำหนังสือเสนอต่อนายสุริยะ เช่น นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยซึ่งอ้างว่า หากไม่เลื่อนไปถึงสิ้นปีจะกระทบต่อผลผลิตอาหารซึ่งถือเป็นความเห็นส่วนบุคคล 

นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดมาตรฐาน ISO สำหรับโรงงานที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย สารเคมีการเกษตร ขึ้นมาเป็นเรื่องวาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 30 เมษายนด้วยเนื่องจากได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เพื่อกำหนดให้โรงงานผลิตและบรรจุต้องมีมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ แต่เพิ่งทราบว่า เรื่องดังกล่าวถูกบรรจุเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณาเห็นชอบ 

“ไม่ทราบว่าเจตนาที่ทำเป็นวาระเพื่อทราบเพื่ออะไรเพราะทำให้น้ำหนักลดลงไปมาก เหมือนกับมีความพยายามที่ทำให้การกำหนดมาตรฐาน ISO ของโรงงานที่เสนอเพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน เกษตรกรผู้ใช้สารเคมีการเกษตรกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ รวมทั้งขอให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ เรียกศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการที่ดีกลับคืนมาในที่ประชุมขอให้ใช้สิทธิ์โต้แย้งสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเฉพาะการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดและมาตรฐาน ISO ของโรงงานผลิตและบรรจุ” นางสาวมนัญญากล่าว