มติศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ “เทพไท” หลุด ส.ส.

วันนี้ (27 ม.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ คำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) มาตรา 96(2) จากเหตุศาล จ.นครศรีธรรมราช มีคำพิพากษา ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เนื่องจากร่วมกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 57 โดยศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101กำหนดให้ความเป็นสมาชิกสภาส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามประเด็นแห่งคดีนี้ โดยมาตรา 101ประกอบมาตรา 98(4) ตามประเด็นแห่งคดีบัญญัติให้ความเป็นสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (1) (2) (4) โดย(2) บัญญัติให้บุคคลที่ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่า ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการ ที่คำพิพากษาของศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งทันที ตามมาตรา 96(2) และเป็นลักษณะของบุคคลห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามมาตรา 98 (4) การที่รัฐธรรมนูญนำลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มากำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุด

“เนื่องจากส.ส. เป็นบุคคลผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ทำหน้าที่ส.ส.จะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าทีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร การที่ส.ส.ผู้ใดทำผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96( 2) ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ และไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง”
ส่วนที่นายเทพไท แย้งว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเหตุต่างๆ ที่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้ระบุถึงเหตุเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96(2) ไว้โดยตรงจึงไม่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุด นอกจากนี้การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96(2) จะต้องเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเท่านั้น ศาลเห็นว่า เมื่อตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) มาตรา 98 และมาตรา 96(2) ประกอบกันแล้วหากมีเหตุตามมาตรา 96 และมาตรา 98 ระหว่างการดำรงตำแหน่งก็มีผลทำให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงได้ มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่นายเทพไทใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือขณะใช้สิทธิเลือกตั้ง

และที่แย้งว่า สมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงทั้งที่คำพิพากษาในคดียังไม่ถึงที่สุดเป็นผลร้ายและก่อให้เกิดความเสียหาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 9) (10) (11) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองที่ให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงก่อนคดีถึงที่สุดเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101( 6) ประกอบมาตรามาตรา 98(4) และมาตรา 96(2) ซึ่งใช้คำว่า “ อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ “ ไม่ได้ใช้คำว่าคำพิพากษาถึงที่สุด

“บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ หมายความว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน สำหรับที่อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองโดยให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้นั้น กรณีของนายเทพไท เป็นการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง สมบูรณ์ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพิจารณาลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อนายเทพไทเป็นส.ส. นับแต่วันเลือกตั้งต่อมาวันที่ 28 ส.ค. 63 ศาลจ.นครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาสมาชิกภาพส.ส. จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96(2)”
ส่วนสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองบัญญัติว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไทให้สิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย.63 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้พ้นจากคำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้น สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองนับแต่วันที่ 16 ก.ย.63 เป็นต้นไป และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกภาพ ส.ส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย

สำหรับการเลือกตั้งส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช แทนตำแหน่งที่ว่างที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องดำเนินการภายใน 45 วันนั้น คาดว่ากกต.จะกำหนดให้วันที่ 7 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้ง และวันที่ 11-15 ก.พ. เป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเลือกตั้งส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ที่นายเทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งนั้น ตามข้อมูลแล้วเขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วยอ.พระพรหม อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ชะอวด และอ.จุฬาภรณ์ นายเทพไท ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 33,310 คะแนน ตามมาด้วยนายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 28,742 คะแนน ว่าที่ร.ท.สนั่น พิบูลย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ 15,490 คะแนน นายนรินทร์ เหลือสม พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนน 11,754 คะแนน นายชยุต หนูสาย พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 3,323 คะแนน และนายจำเริญ เสนากัลป์ พรรคเสรีรวมไทย ได้ 1,370 คะแนน