พาณิชย์ เล็งชง”บิ๊กตู่”เคาะสมัคร สมาชิก”ซีพีทีพีพี”

  • เตรียมแจงข้อดี-ข้อเสีย-ข้อเสนอแนะให้เห็นจะๆ
  • ย้ำถ้าไฟเขียวจะเจรจาโดยยึดประโยชน์ชาติเป็นหลัก
  • พร้อมเสนอตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า
ภายหลังจากการมีรัฐบาลใหม่แล้ว ในเร็วๆ นี้ กรมเตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาว่าไทยยังควรจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) อีกหรือไม่ หลังจากรัฐบาลที่ผ่านมาให้การสนับสนุนและถือเป็นนโยบายที่ไทยจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยขณะนี้ กรมอยู่ระหว่าง การเตรียมสรุปข้อดี ข้อเสียและข้อเสนอแนะ ที่ได้จากการว่าจ้างศึกษา และกรมได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศแล้วในช่วงที่ผ่านมา

“จะเสนอให้กนศ.พิจารณาว่าไทยควรจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ โดยจะชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสียที่ไทยจะเข้าร่วม พร้อมข้อเสนอแนะ และแนวทางการรองรับผลกระทบ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะเสนอให้ตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงถ้าจะไม่เข้าร่วมจะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรด้วย ถ้ากนศ.เห็นชอบให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ก็ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และครม.เห็นชอบอีก หากเห็นด้วย ไทยจะทำหนังสือแสดงเจตจำนงส่งไปให้นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการรับสมาชิกใหม่ จากนั้นสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จะตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาและเจรจาต่อรองกับไทย ก่อนที่จะประกาศรับไทยเป็นสมาชิกใหม่ บืนยันว่า ในการเจรจาจะยึดผลประโยชน์ของไทยให้มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ไทยได้ศึกษารายละเอียดของความตกลงซีพีทีพีพี ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.61 รวมถึงข้อมูลต่างๆ ไว้เพื่อให้พร้อมสำหรับการเจรจาแล้ว โดยเฉพาะประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลของไทย ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ การคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น ซึ่งหากไทยจะเข้าร่วมคงต้องเจรจากับสมาชิกเพื่อขอระยะเวลาปรับตัวด้วย อย่างมาเลเซีย สมาชิกซีพีทีพีพี ขอระยะเวลาปรับตัวในเรื่องการจัดซื้อโดยรัฐ ที่นานกว่าสมาชิกอื่น หรือเวียดนาม ก็ขอเวลาปรับตัวที่นานขึ้นในบางเรื่อง เป็นต้น