พาณิชย์ลดเป้าเงินเฟ้อปีนี้เหลือโต 2.2%

.หลังราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าปีก่อน-เงินบาทแข็งค่าขึ้น
.จับตาเงินหาเสียง-ราคาสินค้าเดือนเม.ย.อาจดันเงินเฟ้อพุ่ง
.ส่วนเดือนมี.ค.66 เงินเฟ้อพุ่ง 2.83% ต่ำสุดรอบ 15 เดือน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 66 ใหม่เป็นขยายตัว 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% จากเดิม 2.0-3.0% ค่ากลาง 2.5% หลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งราคาน้ำมันดิบดูไบที่ไทยใช้เป็นฐานคำนวณเงินเฟ้อ และค่าเงินบาท โดยได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้เหลือเพียง 75-85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 85-95 เหรียญฯ ส่วนค่าเงินบาทปรับเป็น 32.5-34.5 บาทต่อเหรียญฯ จากเดิม 36-37 บาทต่อเหรียญฯและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะทบทวนใหม่อีกครั้ง


“การปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่เป็นเพราะคาดว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกไม่น่าจะดีดขึ้นไปเกินกว่าปีก่อน หรือสวิงช่วงแคบๆ เทียบกับปีก่อน หลังจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้กลุ่มโอเปกได้ลดกำลังการผลิตลงอีกวันละ 1 ล้านบาร์เรล รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากเงินทุนไหลเข้า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน และวัตถุดิบต่างๆ ลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มลดลงได้ และไม่กดดันเงินเฟ้อเท่ากับปีก่อน”


นอกจากนี้ ยังคาดว่า เงินเฟ้อไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัว เพราะราคาสินค้าสำคัญหลายรายการ
มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ ประกอบกับ ฐานราคาปี 65
อยู่ในระดับสูง และเดือนเม.ย.65 ฐานราคาสูงสุดในรอบปี และสูงต่อเนื่องจนถึงปลายปี 65 อีกทั้งมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ, การส่งออกไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นดอกเบี้ย ที่อาจทำให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวได้


อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีวันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก จะส่งผลให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ แต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการสูงขึ้นจากความต้องการซื้อ และกำลังซื้อที่สูงขึ้นหลังเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ได้เป็นเงินเฟ้อจากต้นทุนผลิตที่สูงขึ้นเป็นหลักเหมือนปีก่อน


นายวิชานัน กล่าวต่อถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.66 อยู่ที่ 107.76 สูงขึ้น 2.83% เทียบเดือนมี.ค.65 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือนนับจากเดือนม.ค.65 ทำให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ ส่วนเมื่อเทียบเดือนก.พ.65 ลดลง 0.27% และเฉลี่ย 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) สูงขึ้น 3.88% เทียบช่วงเดียวกันของปี 65 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.75% เทียบเดือนมี.ค.65 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก.พ.66 ที่สูงขึ้น 1.93%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.66 สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเทียบเดือนมี.ค.65 มาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารเกือบทุกกลุ่ม ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน นอกจากนี้ ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 65 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว