“ผู้ว่าฯชัชชาติ” ถก รฟท. เล็งปั้นตลาดนัดจตุจักรขึ้นแท่นตลาดระดับโลก

  • เผย กทม. เหลือสัญญาบริหารตลาดจตุจักรอีก 6 ปี
  • ชี้จากนั้น รฟท. จะเป็นผู้ดูแลตลาดต่อหรือไม่ ต้องมีการหารือกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
  • ย้ำเวลานี้สิ่งสำคัญคือ การวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ตลาดจตุจักรกลับมาบูมอีกครั้ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้พูดคุยถึงความร่วมมือกันหลายเรื่อง ระหว่าง กทม.กับรฟท. สำหรับเรื่องแรกคือ ตลาดนัดจตุจักรซึ่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังเป็นผู้บริหารตลาดอยู่ แต่มีสัญญาที่ต้องจัดการร่วมกับรฟท. รวมถึงการวางแผนในอนาคตที่จะทำให้ตลาดจตุจักรเป็นตลาดระดับโลก โดยจะมีคณะกรรมการตลาดชุดใหม่หารือร่วมกับ รฟท. อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในปัจจุบัน กทม. เหลือสัญญาบริหารตลาดจตุจักรอีก 6 ปี จากนั้น รฟท. จะเป็นผู้ดูแลตลาดนัดจตุจักรต่อหรือไม่ ต้องมีการหารือกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ส่วนเรื่องที่ 2 ประเด็นถนนริมทางรถไฟ อาทิ ถนนกำแพงเพชร ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนมีข้อร้องเรียนสภาพถนนเป็นคลื่น เป็นหลุมบ่อ โดยมีบางส่วนที่ รฟท. ดูแล และบางส่วน กทม.ดูแล ก็จะประสานงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับสะดวกมากขึ้น 

ส่วนเรื่องที่ 3 เรื่องที่ดิน มี 3 ประเด็นที่หารือกับ รฟท. ได้แก่ การปลูกต้นไม้ กทม. มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งรฟท. น่าจะมีที่ให้ปลูกได้ โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟที่พอจะให้ปลูกต้นไม้ได้ เช่น ปลูกเป็นแนวกันชุมชนกับทางรถไฟ ให้เกิดร่มเงาสวยงาม และระยะทางไกลทั้งสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ ซึ่งผู้ว่าฯ รฟท. แจ้งว่าจะเริ่มปลูก 2,000 ต้น โดยจะทำต่อเนื่องในพื้นที่ ที่ รฟท. ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดหาพื้นที่ทำมาหากินให้กลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยมีแนวคิดทำตลาดเล็กๆ ให้ประชาชนทำมาหากินได้ในราคาไม่แพง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่ง รฟท. ได้ทำไว้แล้วบริเวณคลองตัน ซึ่งจากนี้จะหาความร่วมมือขยายผลต่อไป

นอกจากนี้ในเรื่องที่อยู่อาศัย ให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยจัดหาพื้นที่ทำอาคารเช่า และสามารถทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง เดินทางไม่ไกล ก็จะช่วยเรื่องปัญหาจราจร และช่วยลดค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง ทั้งการเคหะ และ รฟท.

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือเรื่องของการบริหารจัดการสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ ซึ่ง กทม.เป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่รฟท. ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน มีบางส่วนที่ กทม.ต้องปรับปรุง เช่น ทางจักรยาน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานชุดย่อยในแต่ละเรื่อง ประสานงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

“เรื่องหนี้กับ รฟท. ไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ เคลียร์กันได้ แค่ตกลงให้ถูกต้องตามสัญญา เรามองไปอนาคตมากกว่า ตอนนี้ตลาดจตุจักรคนเดินน้อย ผู้ค้าไม่มี แต่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมียุทธศาสตร์อย่างไรในการวางแผนตลาดจตุจักรในอนาคตเรื่องนี้สำคัญกว่า” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว