ผีซ้ำกรรมซัดชาวสวนยางเจอเชื้อราระบาดทำใบร่วงเกลื่อนสวน

  • ก.เกษตรฯ เร่งรวบรวมพื้นที่สวนยางพาราพบโรคใบร่วงมากกว่า 330,000 ไร่
  • เตรียมใช้โดรนฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชูจังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่นำร่อง
  • เร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร-ป้องกันระบาดเพิ่ม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำรวจพื้นที่เสียหายจากโรคใบร่วงในยางพารา ซึ่งพบที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และตรัง รวมพื้นที่กว่า 330,000 ไร่ โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ไม่เคยเกิดในยางพารา ต้นยางที่ติดโรคจะใบร่วง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และน้ำยางลดลงร้อยละ 30 – 50 ตั้งแต่พบการระบาดเดือนกันยายน ประมาณการณ์ว่า ผลผลิตยางลดลงกว่า 40,000 ตัน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขโรคนี้เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่กระจายโดยลมและฝน หากมีมรสุมและฝนตกชุกในภาคใต้อีกครั้งจะทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก จึงเน้นย้ำให้หาแนวทางป้องกันไม่ให้ลุกลามในพื้นที่ปลูกยางทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ 

นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ร่วมกับ กยท.ส่งเจ้าหน้าที่แนะนำเกษตรกรให้หมั่นสำรวจต้นยาง หากสังเกตเห็นทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบเหลือง แจ้ง กยท.พื้นที่ เพื่อตรวจสอบอาการ หากเป็นโรคใบร่วงต้องใส่ปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อให้ต้นยางพาราสมบูรณ์แข็งแรงและใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่  Benomyl Hexaconazole Thiophanate Methyl Triadimefon และ Difenoconazole พ่นบริเวณทรงพุ่มยาง นอกจากนี้ ยังพบเชื้อราชนิดเดียวกันในวัชพืชใต้ต้นยาง จึงจำเป็นต้องฉีดพ่นสาร Thiophanate Methyl ลงพื้นดินด้วย

ขณะนี้กำลังประสานผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่เกิดโรคมากที่สุด เพื่อขออนุญาตฝ่ายความมั่นคงในการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในแปลงใหญ่ยางที่อำเภอแว้งเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากระดับทรงพุ่มต้นยางสูงถึง 15-20 เมตร รวมทั้งจะจัดหาเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงมาเสริม นอกจากพื้นที่ที่พบการระบาดแล้วยังจำเป็นต้องฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในพื้นที่โดยรอบที่มีความเสี่ยงติดเชื้อด้วย หากสปอร์เชื้อราถูกลมพัดพาไปจะเกิดโรคในพื้นที่ใหม่ได้

นายกฤษดา กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ร่วมประชุมทางวิชาการกับประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) ที่มาเลเซีย ขณะนี้ประเทศอื่นที่พบโรคใบร่วง ได้แก่ อินโดนีเซียเสียหาย 2.3 ล้านไร่ มาเลเซีย 16,000 ไร่ อินเดีย ศรีลังกา 6,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบอาการใบร่วงของสวนยางในอินเดีย แต่ทางอินเดียระบุว่า เกิดจากเชื้อราสายพันธุ์อื่น ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเคลื่อนย้ายทั้งยางชำถุง กิ่งตา และใบออกนอกพื้นที่ระบาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค 

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ทาง กยท.กำลังหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 (5) ใช้งบประมาณของ กยท.จ่ายให้เกษตรกร 3,000 บาทต่อราย  ส่วนอีกแนวทางกำลังพิจารณา คือ ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรของบกลางจากรัฐบาลช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง หรืออาจสนับสนุนเป็นค่าสารป้องกันกำจัดเชื้อราและปุ๋ยบำรุงต้นยาง โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาด่วนที่สุด