ผลสอบหน้ากากอนามัยถึงมือ”ปลัดพาณิชย์”แล้ว

  • พบวิธีบริหารจัดการมีช่องโหว่ต้นตอขบวนการกักตุน
  • เหตุส่งคนเฝ้ารง.ถึงแค่17.00น.จากนั้นอาจแอบขายหลังร้าน
  • หรือซุกซ่อนไว้ขายโก่งราคาเอาเปรียบประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมี.ค.63 โดยมีนายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการ เช่น ตำรวจ , กฤษฎีกา, อย. ฯลฯ นั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว และได้ส่งผลการสอบไปให้นายบุณยฤทธิ์ พิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว ได้ตั้งประเด็นว่า การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น มีช่องโหว่จริงหรือไม่ จนนำมาซึ่งการกักตุนหน้ากากอนามัย และส่งออก

โดยภายหลังการตรวจสอบ ทั้งจากเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่กี่ยวข้องทั้งหมดของกรมการค้าภายในแล้ว พบว่า การดำเนินการของกรมการค้าภายใน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กรม และทหาร ไปเฝ้าที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่ง ในช่วงเวลาตั้งแต่ 07.00-17.00 น. เพื่อเช็คสต๊อก ป้องกันไม่ให้โรงงานแอบเอาหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ไปขายหลังร้าน และต้องส่งทุกชิ้นที่ผลิตได้ให้ศูนย์บริหารจัดการฯ เพื่อนำไปกระจายต่อให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง และประชาชนนั้น ไม่มีช่องโหว่ที่จะทำให้หน้ากากอนามัยหลุดลอดเข้าสู่ช่องทางการค้าปกติ หรือโรงงานเอาไปขายหลังร้านได้

แต่หลังจากพ้นช่วงเวลาควบคุม หรือตั้งแต่ 17.01 น. เป็นต้นไป พบว่ามีช่องโหว่จริง เพราะหลังจากเจ้าหน้าที่ออกจากโรงงานแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า หน้ากากอนามัยที่ผลิตได้นั้น โรงงานแอบเอามาขายหลังร้านเพื่อทำกำไรหรือไม่ เพราะกรมการค้าภายใน กำหนดให้ขายให้ศูนย์บริหารจัดการฯเพียงชิ้นละ 2 บาทเท่านั้น แต่ราคาขายปลีกในตลาดสูงมาก จากความต้องการที่สูงขึ้น และสินค้ามีน้อย หรือถ้าโรงงานแอบขายจริง แอบขายให้ใคร หรือซุกซ่อนบางส่วนที่ผลิตไว้เพื่อนำมาขายปลีกในราคาสูงเอง เอาเปรียบประชาชน รวมถึงโรงงานบางรายอาจแจ้งข้อมูลการผลิตเท็จต่อกรมการค้าภายใน โดยแจ้งปริมาณที่ผลิตได้น้อยกว่าการผลิตที่แท้จริง จึงทำให้เห็นภาพในขณะนี้ว่า มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก จากในช่วงก่อนหน้าที่ได้วันละประมาณ 1.2 ล้านชิ้น ล่าสุดขึ้นมาถึงวันละ 2.2-2.3 ล้านชิ้น และกำลังจะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านชิ้นในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบครั้งนี้ของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่พุ่งเป้าไปที่วิธีการบริหารจัดการ และผลการตรวจสอบนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือเป็นจิ๊กซอว์หนึ่ง ของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัยทั้งหมด ที่มีการร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาถึงปัญหาขบวนการกักตุน แอบส่งออก และการเอาเปรียบประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ซึ่งในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานอื่น มีการสอบลงลึกมากกว่าของกระทรวงพาณิชย์ เพราะมีการสอบไปถึงเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้อง และผู้ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในขบวนการกักตุน และส่งออกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การหาความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่หากจะเอาผิด หรือไม่เอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ก็สามารถพิจารณาจากเจตนาของการกระทำ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ประมาท เลินเล่อจนทำให้เกิดช่องโหว่หรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกันกับโรงงานหรือไม่ หรือตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโรงงานทุกซอกทุกมุมได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของปลัดกระทรวงพาณิชย์