ปลุกกระแสผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์

  • กระแสผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เองกำลังมาแรง
  • “เสนา”ขันอาสาลูกบ้าน ยื่นลงทะเบียนขอสิทธิ์ขายไฟ
  • เผยติดตั้งใช้เอง25ปีประหยัดค่าไฟ1-3แสนบาท
นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือSENA เปิดเผยว่า จากนโยบายการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้าน จากภาคประชาชน ที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ล่าสุดมีการทยอยการเข้ามายื่นลงทะเบียนขอสิทธิ์ขายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแล้ว ยังต้องการสร้างรายได้จากหลังคาบ้านด้วย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว จะปิดรับลงทะเบียนสิทธิ์การขายไฟฟ้าในปลายปีนี้  ทั้งนี้ตามแผนการดำเนินงานจะ

รับซื้อไว้ระยะแรก 10ปี (ปี 62-71) รวม 1,000 เมกะวัตต์ เป็นการทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์  โดยปี 2562 เป็นปีแรก ได้แบ่งพื้นที่การรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30 เมกะวัตต์ และผู้มีสิทธิ์ยื่นคือต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1บ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น

นางเกษรา กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว ทำให้เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ในฐานะเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ทุกหลังทุกโครงการ ยกเว้นบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทนั้น ให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าวของกระทรวงพลังงานมาก ประกอบกับเสนาฯ มีบริษัทในเครือ คือ บริษัท เสนา โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เป็นผู้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ครบวงจรด้วย 

ดังนั้นเสนาจะเป็นผู้ยื่นสิทธิ์ให้กับลูกบ้านทั้งหมด 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเสนา พาร์ค แกรนด์ รามอินทรา,โครงการเสนา พาร์ค วิลล์ รามอินทรา-วงแหวน,โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 ,โครงการเสนาแกรนด์ โฮม รังสิต ติวานนท์,โครงการเสนาช้อปเฮ้าส์ พหลโยธิน คูคต และโครงการเสนาช้อปเฮ้าส์บางแคเฟส 1 และเฟส 2  โดยจะยื่นเข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปีนี้ด้วยจำนวนรายสูงสุด  164 ราย คิดเป็นจำนวน 394.40 กิโลวัตต์

“หากผู้สนใจจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แบบเน้นเพื่อขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ เพื่อรับเงินค่าไฟ 1.68 บาทต่อหน่วยนั้น บอกเลยว่า ไม่คุ้มทุนกับการติดตั้ง เนื่องจากราคาค่าไฟดังกล่าวไม่ได้สูง  ซึ่งปกติเฉลี่ยแต่ละครัวเรือนจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 2-3 กิโลวัตต์ ค่าติดตั้งประมาณกิโลวัตต์ละ 50,000 บาท แต่เสนา เห็นว่า หากครัวเรือน ที่ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองและไม่ขายไฟเข้าระบบจะประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้ 100,000 -300,000 บาท ตลอดอายุแผงโซลาร์25 ปี แต่กรณีติดตั้งเพื่อใช้เองและขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบซึ่งรัฐซื้อในระยะ 10 ปีนั้น จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 10,000-30,000 บาท  ดังนั้นการติดตั้งเพื่อใช้เองจึงมีความคุ้มค่ากว่า”