ปตท.เร่งสปีดตลาดก๊าซฯ หวังดันไทยเป็นฮับซื้อ-ขาย “แอลเอ็นจี”

  • มั่นใจยอดขายปีหน้ายังโตต่อเนื่อง
  • เหตุโรงงานเปลี่ยนเชื้อเพลิงใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชนเปิดเผยว่าปตท.พร้อมสนองนโยบายกระทรวงพลังงานในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย (แอลเอ็นจี) หรือ LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) โดยจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่าง  ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ทั้งการขนส่งด้วยรถยนต์และเรือไปประเทศเพื่อนบ้านและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง  โดยใช้ LNG จากสถานีรับจ่ายก๊าซฯ แห่งที่ 1 มาบตาพุดที่สามารถรองรับ LNG ได้ถึง 11.5 ล้านตัน

นโยบายผลักดันให้ไทยเป็น Regional LNG Hub ของกระทรวงพลังงานมาถูกทางแล้ว เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ขณะนี้ ประเทศไทยอาจล่าช้าในการแข่งขันกับคู่ค้า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ที่มีแผนทั้งนำเข้าและขยายเทอร์มินอล ซึ่งจากที่เราจะมีถึง 3 เทอร์มินอลในอนาคตและมีที่ตั้งที่เหมาะสม ก็ต้องเร่งทำตลาด ซึ่งเชื่อมั่นจะแข่งขันได้” นายวุฒิกร กล่าว

สำหรับหนึ่งในแผนงานการจำหน่าย LNG นอกเหนือจากการส่งมอบแก่โรงไฟฟ้า ก็จะส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมและต่างประเทศจะดำเนินการภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเข้าร่วมจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตทและโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อต้องการทดสอบความพร้อมของระบบ และกฎระเบียบต่าง  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด 

สำหรับปี 2563 ปตท.มีแผนจัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีการนำเข้าเกือบ 5 ล้านตันซึ่งจะเป็นไปตามการนำเข้าตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวที่ ปตท.ได้ลงนามไว้กับคู่ค้า 4 สัญญา

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ลูกค้าบางรายเริ่มชะลอการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตทเพื่อเตรียมนำเข้าก๊าซฯ มาใช้เองนั้น ปตท.มั่นใจว่า จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจก๊าซฯ ที่เป็นมืออาชีพและราคาก๊าซฯ จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ ปตท.ยังสามารถแข่งขันได้ 

ส่วนความต้องการก๊าซปี 2563 คาดใกล้เคียงกับปี 2562  อยู่ที่ 4,800-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรืออาจโตขึ้นเล็กน้อย โดยการใช้ภาคไฟฟฟ้าที่มีสัดส่วนประมาณ 60% จะทรงตัว ส่วนความต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนกว่า 20% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ จากที่ยอดขายหดตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโดยที่มั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้น แม้การส่งออกภาพรวมยังไม่สดใส เนื่องจากการทำตลาดลูกค้าโรงงานนอกแนวท่อก๊าซ พบว่าสนใจเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นจากความต้องการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯผ่านโรงแยกก๊าซฯ ที่มีสัดส่วนกว่า 10% จะยังทรงตัว