“บีโอไอ”เตรียมเสนอมาตรการจูงใจดึงดูดนักลงทุน ให้บอร์ดเคาะเดือนต.ค.นี้

  • เปิดประเภทกิจการใหม่ดึงลงทุน
  • ขยายมาตรการไทยแลนด์ พลัส 
  • ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์   เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า   การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ในเดือนต.ค.นี้  บีโอไอจะเสนอมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นการรักษาฐานการลงทุนเดิมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ๆให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับบีโอไออยู่แล้ว ช่วยรักษาระดับการจ้างงานเพื่อการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  

สำหรับมาตรการสำคัญๆที่จะเสนอบอร์ดบีโอไอให้พิจารณา ได้แก่  การออกมาตรการกระตุ้นให้บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ โดยจะเป็นการเชื่อมโยงกับค่าใช้จ่ายกับการจ้างงานซึ่งขณะนี้มีหลายๆมาตรการที่บีโอไอจะนำเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณา รวมทั้งยังจะเสนอขยายอายุมาตรการ ไทยแลนด์พลัส(Thailand Plus)  ที่จะสิ้นสุดในวันที่  31 ธ.ค.นี้ ออกไปอีกเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรองรับการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19คลี่คลายโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน  

นอกจากนี้ บีโอไอ จะเสนอให้มีการเพิ่มประเภทกิจการที่เกี่ยวกับการวิจัยทางคลินิก เพื่อตอบสนองงานวิจัย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ,การเพิ่มสาขาการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio,Circular ,Green)หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตสินค้าอาทิ เคมีภัณฑ์อาหาร ยา อาหารสัตว์ เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มสาขาที่มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำมาทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจาก วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น  

 “ โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด บีโอไอจึงเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โดยในปีนี้ มีผู้มายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ถึง 45 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 13,000 ล้านบาท เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี25 61- มิ.ย. ที่ผ่านมา มีจำนวนเพียง 116 โครงการ เงินลงทุนรวม 29,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้บีโอไอ  ยังจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งบีโอไอจะเดินหน้าต่อในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยระบบอัตโนมัติที่ขณะนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับบีโอไอ ได้มีการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นบีโอไอ กำลังพิจารณาให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติมสำหรับผู้ ที่นำระบบดิจิทัลมาปรับปรุงในกระบวนการผลิต

สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.)  มีการขอรับการส่งเสริมรวม  754 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7% มีมูลค่าเงินลงทุน158,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  17%เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 แต่ยัง มั่นใจว่าการคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปีนี้ จะไม่ต่ำไปกว่าปี 2558 ที่มีตัวเลขที่ถือว่าปีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 218,000ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี2564 ก็ยังมั่นใจว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยก็จะเริ่มฟื้นตัว หลายๆอุตสาหกรรมก็จะทยอยปรับตัวดีขึ้น              

น.ส.ดวงใจกล่าวว่า  เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รัฐบาลมอบให้บีโอไอเป็นหน่วยงานเร่งรัดส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม เป้าหมายและสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปบีโอไอจึงปรับโครงสร้างองค์กรใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. นี้ โดยได้จัดโครงสร้างกองส่งเสริมการลงทุนใหม่เป็น Sector 1-4  ได้แก่กองส่งเสริมการลงทุน 1 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ เช่น เกษตรและแปรรูปอาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ,กองส่งเสริมการลงทุน 2 ดูแลอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น   ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กองส่งเสริมการลงทุน 3  ดูงานอุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น   แร่ โลหะ และวัสดุ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ พลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม   และกองส่งเสริมการลงทุน 4 รับผิดชอบอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง