บางกอกแอร์ยอมรับ”สนามบินอู่ตะเภา”ล่าช้ากว่าแผนเหตุโควิดซัด-จ่อยื่นรัฐขอปรับแบบก่อสร้าง

บางกอกแอร์ยอมรับโครงการสนามบินอู่ตะเภา  2.9 แสนล้านล่าช้ากว่าแผนเหตุโควิดซัดเข้าพื้นที่ไม่ได้คาดได้เริ่มก่อสร้างเฟสแรกไตรมาส 1 ปี 66  เตรียมเสนอ  สกพอ.ขออนุมัติปรับแบบขยายก่อสร้างจาก 4เฟสเป็น 6เฟสแต่มั่นใจยังรับผู้โดยสารได้ 60ล้านคนต่อปีตามกำหนด

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ได้ออกแบบก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะก่อสร้างได้ทันที   แต่ขณะนี้ต้องรอให้ฝ่ายรัฐส่งมอบพื้นที่ให้กับ UTA ก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างเฟสแรกได้ภายในไตรมาส 1ปี66โดยเฟสแรกจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการได้ในปี 69 รองรับผู้โดยสารเบื้องต้นได้ 15 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าโครงการสนามบินอู่ตะเภา  มีความล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 1 ปี  จากเดิมที่ UTA ต้องเริ่มการก่อสร้างภายในปี 65 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งเรื่องการติดต่อประสานงาน และการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่สำรวจได้ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ดังนั้นทาง UTA จึงอยู่ระหว่างเจรจากับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับรายละเอียดการดำเนินโครงการ 

นายพุฒิพงศ์  กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับแบบนั้น จากเดิมแผนการลงทุนและสัมปทานจะอยู่ที่ 50 ปี แบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟส สามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 60 ล้านคนต่อปี โดยจะขอปรับเป็นการลงทุนและสัมปทาน 50 ปี แบ่งการพัฒนาเป็น 6 เฟส โดยยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 60 ล้านคนต่อปีเช่นเดิม สาเหตุที่ขอขยายระยะเวลาการพัฒนา เนื่องจากสถานการณ์โควิด  ทำให้การเติบโตของผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแม้จะขยับแผนพัฒนาเป็น 6 เฟส แต่หากผู้โดยสารกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด โดยกลับมาประมาณ 80% ของขีดความสามารถในการรองรับของอาคารผู้โดยสาร ทาง UTA จะเริ่มดำเนินการในเฟสต่อไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้โดยสารแออัด  

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) คนใหม่นั้น มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อโครงการฯ เพราะเชื่อมั่นว่าเจตนารมณ์ของอีอีซี ก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ น่าจะเจรจา และหารือร่วมกันได้อยู่แล้ว