“บพท.-ธนาคารโลก-สศช” ชี้เป้าไทยปลดล็อก 3 โจทย์ยาก

บพท.ดึงธนาคารโลก สภาพัฒน์/สศช. ร่วมเวทีชี้เป้าปลดล็อกประเทศไทย “พัฒนาเมืองน่าอยู่” ชี้ทางแก้ 3 โจทย์ยาก“กระจายความเจริญ-ลดเหลื่อมล้ำ-เติมความสามารถการแข่งขัน” กระตุ้นท้องถิ่นใช้งานวิจัยพัฒนากลไกระบบนิเวศน์ข้อมูลเมือง ปูทางปั้นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะยั่งยืน

  • ธนาคารโลกชี้ไทยต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนลงทุนมหาลัยมาก แต่ผลิตคนแล้วไม่มีงานทำได้จริง
  • สภาพัฒน์/สศช.ยันแผนฉบับ 13 เขียนชัด 4 เรื่อง “ชีวิตปลอดภัย-ปลอดมลภาวะ-มีภูมิคุ้มกันยืดหยุ่น”
  • บพท.ลั่นลุยปิดทองหลังพระทำงานยากเมืองน่าอยู่ หนุนคนใช้งานวิจัยใช้พัฒนาอย่างยั่งยืน

นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลกผู้รับผิดชอบประเทศไทย เปิดเผยว่า ในงานสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้นำแสนอถึงข้อค้นพบความท้าทายและโอกาสการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดสำหรับประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารโลกทำงานร่วมกับหลายประเทศรวมทั้งรัฐบาลไทย จึงค้นพบโจทย์หลักเรื่องการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด หรือ Livable & Smart City ที่จะต้องถอดรหัสและร่วมกันขับเคลื่อนต่อให้ลุล่วงทั้ง 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล่ำ และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งยังแก้ไม่ได้เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่กระจายออกไปสู่อีกหลายเมืองใหญ่ที่มีความพร้อม

ประการที่ 2 ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพบข้อมูลหนึ่งเห็นแล้วตกใจเหมือนกันนั่นปัจจุบันเมืองไทยเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทุกจังหวัดผลิตนักศึกษาออกมาจำนวนมาก แต่ปรากฏ “ไม่มีงานจริงให้ทำ” ทั้งที่ได้ลงทุนกับเรื่องทุนมนุษย์ไปมหาศาลแต่ก็ไม่สามารถใช้ทุนมนุษย์ให้เต็มที่ได้ เพราะงานที่ดีกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

ประการที่ 3 ขีดความสามารถของการแข่งขันในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Go Green ทุกวันนี้ในประเทศไทยก็ยังคงมีขีดจำกัดอยู่มาก จึงต้องหาวิธีแก้ไขกันต่อไป

น.ส.ชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีประเด็นการเกี่ยวกับเมืองตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยได้กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 การเติบโตในภูมิภาค พยายามส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนตามเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เรื่องที่ 2 ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นให้เกิดการกระจายทั้งความเจริญและการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค เรื่องที่ 3 การพัฒนาเมือง มุ่งให้พัฒนาเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยไปพร้อม ๆ กัน

โดยเฉพาะ “คุณลักษณะเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน” ทาง สศช.ต้องการสนับสนุนให้เกิด 4 ประการ ได้แก่ 1.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.สิ่งแวดล้อมสะอาดไม่มีมลพิษ ทรัพยากรธรรมที่สมบูรณ์ 3.ความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง เมืองที่ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้ไว 4.ความยืดหยุ่น

นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า ปัจจุบันทั้ง 4 ภาคส่วนทั้ง ราชการ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนในสระบุรีเกิดความตื่นรู้และตื่นตัวทำให้จังหวัดเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ สอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ของ สศช. โดยจับมือกับภาควิชาการ มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยหลักช่วยเชื่อมโยงพลังความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ของสถาบันอุดมศึกษา เข้ากับพลังภาคีในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง

โดยได้สร้างกลไกขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรี สู่ความเป็น “เมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน” บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม ทุกภาคส่วนแสดงพลังความร่วมมือกัน เริ่มจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ภายในตัวเมืองสระบุรีมากที่สุด นำร่องทำโครงการรีไซเคิลพลังงานจากกระบวนการผลิตซีเมนต์เป็นพลังงานสะอาด พัฒนาอุตสาหกรรม สีเขียวนำวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียน รณรงค์ให้คนในท้องถิ่นทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้มากที่สุด กระทั่งปัจจุบันเกิดความสำเร็จกลายเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กล่าวว่าบพท.ยินดีที่งานพัฒนาความยั่งยืนเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ซึ่งองค์กรมีบทบาทรณรงค์ทำมาต่อเนื่องโดยได้รับการตอบสนองและต่อยอดขยายผลเป็นวงกว้างมากขึ้น ทุกวันนี้มีพันธมิตรเข้ามาเสริมทัพอย่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ร่วมเป็นกลไกกำหนดนโยบายและกำกับการทำธุรกรรมดิจิทัล นำงานวิจัยของ บพท.ไปใช้ประโยชน์พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นวิธีพัฒนาเมืองอย่างถูกทาง

บพท.มีโอกาสทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายกำหนดนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติงาน ตั้งเป้าหมายร่มกันผลักดันพื้นที่เข้าสู่ “เมืองน่าอยู่ได้อย่างชาญฉลาด” โดยนำชุดข้อมูลพร้อมใช้ที่ประมวลมาจากนักวิจัยตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เข้าไปขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างความสอดคล้องกับบริบท และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่เป้าหมายให้เกิดเมืองน่าอยู่อย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้ง บพท. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ มุ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนากลไกกระบวนการพัฒนาเมือง เร่งใส่ความพยายามสร้างโอกาสทำให้เกิดความทั่วถึง เท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้ต้องการใช้ได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ และนวัตกรรม มากขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไป

รศ.ดร.ปุ่น ย้ำว่า พยายามสร้างระบบนิเวศน์ด้วยกลไกกระบวนการพัฒนาเมือง บนฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมทำให้ระบบข้อมูลของเมือง เป็นแบบเปิด หรือ Open City Data Platform โดยมีหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพดูแล เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นงานยากเหมือนงานปิดทองหลังพระ แต่จะทำให้สำเร็จได้หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะสุดท้ายจะเกิดประโยชน์กับคนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยตรงเป็นความยั่งยืนในระยะยาวที่มั่นคงแข็งแรง

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen