นายกฯ ปลื้ม!ยูเนสโกรับรอง ‘คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ’ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

  • เป็นเอกสารโบราณสำคัญของชาติ
  • เป็นแหล่งรวมความคิด
  • ประสบการณ์สะท้อนความหลากหลาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ให้การรับรอง ‘คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ’ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ได้พิจารณาวาระการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก ซึ่งได้ผ่านกระบวนการการพิจารณาโดย International Advisory Committee (IAC) แล้ว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ในครั้งนี้รับรอง โดยมีรายชื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมด 64 รายการ และประเทศไทยได้เสนอขึ้นทะเบียนรอบปี ค.ศ. 2022-2023 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ โดยหนังสือสมุดไทย ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งไทยได้ขอให้ยูเนสโกมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องต่อไป

โคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ เป็นหนังสือใบลานจารด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี ที่มีทำนองการแต่งเป็นภาษาโบราณแบบเฉพาะของท้องถิ่น แทรกคติธรรม ความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณี มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้ายกล่าวไว้ชัดเจนว่าหนังสือฉบับนี้อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405

ทั้งนี้ ไทย ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 5 รายการ ได้แก่ 1.) ศิลาจารึก หลักที่ 1 (พ.ศ. 2546) 2.) เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม (พุทธศักราช 2411 – 2453) (พ.ศ. 2552) 3.) จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ. 2551 ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ พ.ศ. 2554 ในระดับโลก) 4.) บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ 100 ปี (พ.ศ. 2556) และ 5.) ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (พ.ศ. 2559)

“นายกรัฐมนตรีภูมิใจในความเป็นไทย มีประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมายาวนานอย่างที่มีเอกลักษณ์ ประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งในด้านสังคม และวัฒนธรรม จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าการรับรองทั้ง 6 รายการเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก จะมีส่วนช่วยการอนุรักษ์ เผยแพร่ประสบการณ์ที่สะท้อนคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เข้าใจในความหมายและคุณค่า ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า ไทยยังมีเอกสารที่เป็นมรดกความทรงจำของชาติอีกมากตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมเฉพาะตัว” นายอนุชาฯ กล่าว